:::: MENU ::::

MYM

เรารักการแบ่งปัน

  • OfRKTf.md.png

    Sharing content

  • OfRwyb.md.png

    Sharing content

  • OfRZja.md.png

    Sharing content

26 ธันวาคม 2552

  • 19:58
โจมตีด้วยไฟ

ซุนวูกล่าวว่า เราสามารถใช้ไฟโจมตีได้ห้าหนทางด้วยกัน หนทางแรกคือ เผาไพร่พล หนทางที่สอง คือเผาเสบียง หนทางที่สาม คือ เผายานพาหนะสำหรับขนส่งเสบียง หนทางที่สี่ คือเผาคลังเก็บยุทโธปกรณ์ หนทางที่ห้า คือเผาที่พัก จะจุดไฟได้ต้องมีทรัพยากร ต้องมีการเตรียมเชื้อเพลิง จะใช้ไฟโจมตีได้ต้องเลือกฤดูกาลที่ถูกต้อง จะจุดไฟต้องเลือกวัน เลือกฤดูที่ถูกต้อง อากาศต้องแห้ง เลือกเวลาที่ถูกต้อง เลือกฤดูที่หญ้าสูงท่วมเกวียน หาวันที่เหมาะสมให้ใช้วิธีดูดาวบนท้องฟ้า ยามเช้าต้องมีลม การโจมตีด้วยไฟ เป็นการเลือกใช้ไฟสร้างสถานการณ์ได้ห้าแบบ แล้วเลือกลงมือให้สอดรับกับไฟ หากก่อไฟขึ้นในค่ายข้าศึก ให้โจมตีที่ขอบริมรอบนอก หากโจมตีด้วยไฟแล้ว ศรัตรูยังคงนิ่งเฉย ให้รอดูท่าทีให้ดีเสียก่อน เมื่อไฟลุกโชนดีแล้ว ให้พยายามรุกไปตามทางเดินของไฟ แต่ถ้าตามไปไม่ได้ ให้อยู่กับที่ก่อน ไฟนั้นจะจุดจากภายนอกก็ย่อมได้ หากมิมีเวลาลอบเข้าไปถึงด้านใน เมื่อเวลาไม่อำนวยก็จงจุดก่อนจะเสียการ จงจุดไฟในที่ลมพัดมาจากทางด้านหลัง อย่าได้โจมตีทวนลม ยามกลางวันลมพัดยาวนาน ยามค่ำคืนลมสลายเร็วพลัน ทุกกองทัพต้องรู้วิธีปรับตัวตามหนทางโจมตีด้วยไฟห้าประการ คำนวณเวลา เฝ้ารอโอกาส ใช้ไฟช่วยโจมตีถือว่าฉลาด ทั้งยังมีน้ำที่อาจใช้ช่วยเสริม เพิ่มการโจมตี น้ำตัดข้าศึกได้ แต่มิได้ทำลายทรัพยากร ชัยชนะได้มาจากการสร้างโอกาสโจมตี การไม่ศึกษาวิธีสร้างโอกาสโจมตี ถือเป็นภัย แม่ทัพต้องไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอย

อันว่า : เจ้าเมืองผู้ชาญฉลาดย่อมวางแผนล่วงหน้า แม่ทัพผู้เยี่ยมยุทธ์นำแผนไปปฏิบัติ หากมีผลดีแต่เพียงน้อย ไม่เดินทัพ หากมีผลได้แต่เพียงนิด ไม่ใช้คน หากไม่คับขัน ไม่ออกรบ เจ้าเมืองย่อมไม่ปล่อยให้ความโกรธามาเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของกองทัพ แม่ทัพย่อมมิบังควรปล่อยให้ตนเองเดือดดาลก่อนออกสู่สมรภูมิ รบต่อเมื่อได้ประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ไม่ออกรบ ความโกรธสามารถเปลี่ยนแปรเป็นสุขได้ ความเดือดดาลยังอาจผันแปรเป็นเริงร่า แต่ชาติที่สูญสิ้นมิสามารถกลับฟื้นคืนชีวี คนตายมิอาจฟื้นคืนชีพ เรื่องนี้ เจ้าเมืองผู้ปราดเปรื่องพึงระวัง แม่ทัพผู้เยี่ยมยุทธพึงตระหนัก หน้าที่หลัก คือ รักษาความสงบสุขให้กับคนในชาติและบูรณภาพของกองทัพ
  • 11:00
เก้ายุทธภูมิ

ซุนวูกล่าวว่า หลักแห่งการบัญชาทัพมีอยู่ว่า ต้องรู้ว่ายุทธภูมิอย่างใดเป็นยุทธภูมิกระจาย ยุทธภูมิอย่างใดเป็นยุทธภูมิเบา ยุทธภูมิอย่างใดเป็นยุทธภูมิช่วงชิง ยุทธภูมิอย่างใดเป็นยุทธภูมิเปิด ยุทธภูมิอย่างใดเป็นยุทธภูมิสามประสาน ยุทธภูมิอย่างใดเป็นยุทธภูมิอันตราย ยุทธภูมิอย่างใดเป็นยุทธภูมิวิบาก ยุทธภูมิอย่างใดเป็นยุทธภูมิโอบล้อม ยุทธภูมิอย่างใดเป็นยุทธภูมิคับขัน เมื่อรบในขอบเขตแห่งอาณาจักรตน เรียก “ยุทธภูมิกระจาย” เมื่อเข้าเขตข้าศึกแต่เพียงไม่ลึก เรียก “ยุทธภูมิเบา” บางยุทธภูมิเราได้จักมีประโยชน์ ข้าศึกได้ก็มีประโยชน์ ซึ่งเป็น “ยุทธภูมิช่วงชิง” บางยุทธภูมิเราอาจเคลื่อนทัพได้ง่าย แต่ข้าศึกก็เคลื่อนทัพได้ง่ายเช่นกัน เช่นนี้เรียก “ยุทธภูมิเปิด” พื้นที่ซึ่งมีความสำคัญต่อสามฝ่าย ผู้เข้าครอบครองได้ก่อนย่อมครองพิภพจบแผ่นดิน เช่นนี้เรียก “ยุทธภูมิสามประสาน” บุกลึกเข้าไปในพื้นที่ข้าศึก จนหลายเมืองของข้าศึกอยู่เบื้องหลัง เช่นนี้เรียกว่า “ยุทธภูมิอันตราย” มีทั้งภูเขาสูงใหญ่ ป่ารกทึบ มีทั้งอันตรายและสิ่งกีดขวาง ทั้งยังเต็มไปด้วยห้วยหนองคลองบึง ดารดาษดกดื่นอยู่ทั่วไป เช่นนี้เรียก “ยุทธภูมิวิบาก” บางพื้นที่ทางเข้าแคบ เมื่อจะออกกลับถูกปิด เช่นนี้เรียก “ยุทธภูมิโอบล้อม” บางครั้งจะรอดได้ต้องรบเร็ว หากล่าช้าเป็นถึงแก่ชีวิต เช่นนี้เรียก “ยุทธภูมิคับขัน” หากหวังความสำเร็จเมื่ออยู่ในยุทธภูมิกระจาย พึงเลี่ยงสงคราม ในยุทธภูมิเบาอย่าหยุด ในยุทธภูมิช่วงชิงอย่าเข้าตี ในยุทธภูมิเปิดพึงหนุนเนื่อง ในยุทธภูมิสามประสานพึงคบมิตร ในยุทธภูมิอันตรายให้กวาดต้อน ในยุทธภูมิโอบล้อมให้ใช้อุบาย ในยุทธภูมิคับขันให้รีบสู้

ผู้สันทัดการบัญชาทัพแต่โบราณ สามารถตัดหน้าหลังข้าศึกให้ขาดจากกัน ทัพเล็กมิอาจพึ่งทัพใหญ่ ห้ามแข็งแกร่งมิให้ช่วยผู้อ่อนหัด กีดกันนายกองมิให้รวบรวมไพร่พล ตีเหล่าไพร่พลให้แตกพ่าย มิให้รวมตัวกันติด รังควานให้เกิดความอลหม่าน เมื่อใดเข้าร่วมสงครามแล้วมีประโยชน์ ให้รีบร่วม เมื่อเข้าแล้วหามีประโยชน์อันใดไม่ ให้เมินเสีย หากผู้กล้าเอ่ยถ่ามว่า “เมื่อมีแม่ทัพข้าศึกนำไพร่พลจำนวนมากบุกมา จะเตรียมรับมือฉันใด?” จงบอกเขาว่า “แรกที่สุด ให้ยึดสิ่งที่ข้าศึกหวงแหน แล้วข้าศึกจะยอมตามเราทุกประการ ความเร็วคือหัวใจของการรบ ฉะนั้น จึงควรใช้ประโยชน์จากการที่กองทัพของฝ่ายศรัตรูมีขนาดใหญ่ทำให้อุ้ยอ้ายอืดอาด พึงใช้ความไม่พร้อมของฝ่ายศรัตรูให้เป็นประโยชน์ และเข้าโจมตีตรงจุดที่ข้าศึกคาดไม่ถึง”

หลักแห่งการรุกเข้าแดนข้าศึก หากเข้าลึกกองทัพจักมุ่งมั่น เป็นการควบคุมไพร่พลโดยนายกองมิต้องกดดัน เสบียงให้กวาดต้อนเอาจากคหบดีในแดนข้าศึก ทัพใหญ่จักมีอาหารอุดม ดูแลไพร่พลให้ดี อย่าบีบคั้น ขวัญที่ดีย่อมส่งเสริมให้กองทัพมีกำลังแข็งกล้า เคลื่อนพลพึงใช้อุบายให้เหนือคาดคิด อย่าปล่อยให้ข้าศึกประเมินกำลังเราได้ง่ายดาย วางกำลังให้ยากแก่การที่ไพร่พลจะแตกหนี เยี่ยงนี้พวกเขาจะสู้ตายไม่มีถอย เยี่ยงนี้จะช่วยให้พวกเขามีชีวิตรอด ทั้งนายทั้งไพร่จะสู้ถวายหัวจนสุดกำลัง ทหารที่มุ่งมั่นย่อมลืมกลัว ไม่มีที่หนีย่อมต้องสู้ เข้าลึกอยู่ในแดนข้าศึก พวกเขาย่อมไม่มีทางเลือก หนีไม่ได้ก็ต้องสู้ตายกันไปข้างหนึ่ง ทำได้ดั่งนี้ มิต้องจัดเวรยาม ไพร่พลก็จักระวังระไว มิต้องบอกกล่าว ก็ทำในสิ่งที่ควร มิต้องบังคับ ก็อุทิศกายถวายชีวิต มิต้องสั่งการ ก็ยังวางใจได้ “ไม่อยากให้เดา อย่าให้สงสัย ไม่อยากให้ตาย อย่าให้ทางหนี” ไพร่พลเราแม้นไร้ทรัพย์สิน ใช่เพราะเกลียดสมบัติ ไพร่พลไม่กลัวตาย ใช่เพราะชังชีวิต ในวันออกคำสั่งรบ ไพร่พลอาจนั่งร้องไห้จนน้ำตาชุ่มปกเสื้อ เมื่อลุกขึ้น น้ำตายังอาบแก้ม จงจัดให้พวกเขาไปอยู่ในตำแหน่งที่มิอาจวิ่งหนี แล้วพวกเขาจะแสดงความกล้าหาญอย่างไม่คิดชีวิต

ผู้สันทัดการบัญชาทัพ ต้องตอบสนองว่องไว ต้องพัฒนาการตอบสนองให้ว่องไว ไวให้เหมือนการฉกของงูส้วยหราง (งูแห่งเขาฉางซาน) เมื่อถูกตีหัวให้ฟาดหาง เมื่อถูกตีหางให้หัวกัด ถูกตีกลางลำตัวทั้งหัวและหางต้องช่วยกัน หากมีผู้กล้าถามว่า “จะมีกองทัพใดสามารถเลียนแบบการตอบสนองอย่างฉับไวเช่นนี้ได้บ้างไหม?” เราตอบว่า “มี” เรื่องนี้ศึกษาได้จากยามมีภัย คนเราแม้นไม่ถูกกัน แต่เมื่ออยู่เรือลำเดียวกันแล้วเจอพายุก็ย่อมต้องช่วยกันมือเป็นระวิง ในสถานการณ์เช่นนี้ ต่างก็พร้อมจะช่วยอีกฝ่ายเหมือนหนึ่งเช่นมือขวาช่วยมือซ้าย ยามประสบพบเภทภัย อาจผูกม้าและฝังล้อเกวียน แต่เพียงเท่านี้ยังมิพอ กองกำลังที่จัดอย่างมีระบบ ย่อมหาญกล้ากว่าปัจเจกชน อันว่าศิลป์ของการจัดระบบ ให้จัดที่แกร่งและที่อ่อนไว้ด้วยกัน ทั้งยังต้องใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ ผู้สันทัดการบัญชาทัพ สามารถบัญชาไพร่พลได้เป็นหนึ่งเดียว สามารถขับเคี่ยวไพร่พลให้สู้ไม่มีถอยหนี ลักษณะอันเป็นคุณของแม่ทัพคือ... ต้องเยือกเย็นเพื่อขบคิด ต้องเที่ยงธรรมเพื่อปกครอง ต้องรู้จักควบคุมสิ่งที่ไพร่พลของตนจะเห็นและได้ยิน ให้เขาทำตามโดยไม่รู้แผนการ หน้าที่ไพร่พลอาจเปลี่ยนได้ แผนการอาจเปลี่ยนได้ ใช้คนมิต้องให้เข้าใจ ที่ตั้งค่ายต้องเปลี่ยนแปร เคลื่อนที่อย่าซ้ำซาก ใช้คนอย่าให้ล่วงรู้แผนการ ให้รู้เฉพาะที่จำเป็นเฉกเช่นปีนขึ้นบันไดขึ้นที่สูง แล้วชักบันไดเสีย ต้องสามารถนำไพร่พลบุกลึกเข้าไปในแดนมิคุ้น แล้วยังหาโอกาสคว้าชัยชนะมาได้ ต้องต้อนผู้คนดั่งฝูงแกะ ต้อนให้ออกเดิน ต้อนให้เข้าโจมตี อย่าให้รู้ว่าจะให้มุ่งหน้าไปทางใด ต้องรวบรวมคนให้เป็นกองทัพเกรียงไกร แล้วต้อนให้โรมรันกับเหล่าศรัตรู ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพพื้นที่ ปรับตัวเพื่อสร้างโอกาส ต้องจัดการจิตใจของผู้คน ต้องฝึกฝนทักษะเหล่านี้ให้จงดี พึงใช้ยุทธศาสตร์การบุก การบุกลึกเข้าไปในพื้นที่ข้าศึกทำให้กองทัพเหนียวแน่น รุกเพียงตื้นทำให้กำลังกระจัดกระจาย เมื่อออกจากแดนตนข้ามเขตไป ต้องเข้มงวดการควบคุม เนื่องด้วยเป็นยุทธภูมิช่วงชิง บางครั้งสามารถเดินทัพไปทางใดก็ได้ เช่นนี้เรียก ยุทธภูมิสัญจร (สามประสาน) บางครั้งอาจเจาะลึกเข้าไปในแดนข้าศึก เช่นนี้เรียกยุทธภูมิอันตราย หากเจาะเข้าไปเพียงเล็กน้อย เช่นนี้เรียกยุทธภูมิเบา เมื่อทางถอยกลับถูกปิด ส่วนทางเดินหน้าลำบากแล้ว ต้องเรียกยุทธภูมิโอบล้อม บางยุทธภูมิหนีไปไหนไม่ได้ อย่างนี้เรียกยุทธภูมิคับขัน ในยุทธภูมิกระจัดกระจาย ต้องรวมใจไพร่พล ในยุทธภูมิเบา การสื่อสารอย่าให้ขาด ในยุทธภูมิช่วงชิง ต้องคอยขัดขวางข้าศึก ในยุทธภูมิเปิด ต้องปกป้องพื้นที่สำคัญ ในยุทธภูมิสัญจร ต้องเร่งสร้างพันธมิตร ในยุทธภูมิอันตราย ต้องรักษาเสบียง ในยุทธภูมิวิบาก ต้องเดินทัพไปตามถนน ในยุทธภูมิโอบล้อม ต้องคอยระวังอย่าให้ความลับรั่วไหล ในยุทธภูมิคับขัน อย่าให้เสียผู้คน ธรรมชาติของคน ถูกล้อมจักต้านทาน จำเป็นจักสู้ คับขันจักฟังบัญชา

จงทำในสิ่งที่ถูกต้อง หากมิรู้แผนของศรัตรู จงอย่าพยายามที่จะเผชิญ หากมิรู้ตำแหน่งของภูเขา, ป่า, สิ่งกีดขวาง และหนองน้ำ จงอย่าเดินทัพ หากมิมีผู้นำทางท้องถิ่น ก็จักมิได้ประโยชน์จากภูมิประเทศ สงครามมีหลายปัจจัย หากมิทราบแต่เพียงหนึ่งปัจจัย มิควรก่อสงคราม ทำสงครามกับเมืองใหญ่ ต้องแบ่งแยกให้แตกฝ่าย ต้องสลายความหาญกล้าของศรัตรู ต้องรู้กันมิให้ข้าศึกรวมกันติด พันธมิตรมิจำเป็นต้องแสวงหา อำนาจบารมีของเมืองอื่นมิพึงต้องไปส่งเสริม ดำเนินการใดมิบังควรต้องไปป่าวประกาศ จะเพิ่มความกลัวที่ข้าศึกมีต่อเรา ทำให้พันธมิตรของข้าศึกถอนกำลัง แล้วทั้งชาติของข้าศึกก็ต้องมลาย รางวัลแจกจ่ายได้ตามชอบ เมื่อจะหยุดรบ ไม่ต้องรอคำสั่งจากเบื้องบน โจมตีด้วยกำลังทั้งปวง ใช้ทั้งกองทัพให้เหมือนใช้คนคนเดียว โจมตีด้วยทักษะ ไม่ต้องรายงานด้วยวาจา โจมตีเมื่อได้ประโยชน์ อย่าพูดถึงภัย ส่งทัพเข้ายุทธภูมิคับขัน แรกอาจซวนเซ แต่สุดท้ายกลับแข็งแกร่ง แม้ทัพใหญ่ยังอาจโชคร้าย แม้นตกเป็นรอง ยังเปลี่ยนความพ่ายแพ้ให้เป็นชัยชนะได้ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญชำนาญศึก หากต้องการอยู่รอด ต้องปรับตัวให้ทันกับวัตถุประสงค์ของข้าศึก ต้องตามให้ติดทุกสถานการณ์ แม้พันลี้ยังไม่นับว่าไกล ยิ่งเข้าใจข้าศึกยิ่งเห็นทางได้แจ่มชัด จัดการฝ่ายบ้านเมืองให้ถูกต้อง ต้องลงมือตั้งแต่เริ่มทำสงคราม ปิดพรมแดน ฉีกใบผ่าน กั้นเส้นทางฑูต สยบการเมืองให้สิ้นซาก จุดอ่อนของฝ่ายตรงข้ามคือผู้คนของเขา มองให้เห็นแล้วรีบบุกไปตรงนั้น พึงยึดสิ่งอันเป็นที่หวงแหนของพวกเขา โดยต้องทำให้ไว ต้องพลิกชายแดนไล่ล่าศรัตรู ประเมินให้ถี่ถ้วนว่าควรลงมือโจมตีเมื่อใด การทำในสิ่งถูกตั้งแต่เริ่มสงครามก็เหมือนการเข้าหาอิสตรี ต้องให้คนของฝ่ายศรัตรูเป็นผู้เปิดประตู หลังจากนั้น เราจึงค่อยเคลื่อนไหวให้รวดเร็วเหมือนกระต่ายป่า ข้าศึกย่อมจะจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน

24 ธันวาคม 2552

  • 19:11
ภูมิประเทศ

ซุนวูกล่าวว่า บางภูมิประเทศสะดวก บางภูมิประเทศเป็นเหมือนกับดัก บางภูมิประเทศเกื้อหนุน บางภูมิประเทศคับแคบ บางภูมิประเทศขัดขวาง บางภูมิประเทศอยู่ไกล บางภูมิประเทศใช้ออกเดินทางไปโจมตีได้สะดวก แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็พบเราได้สะดวกเช่นกัน พื้นที่เยี่ยงนี้เรียกพื้นที่สะดวก เป็นภูมิประเทศเปิด ในภูมิประเทศเช่นนี้จงเร่งเข้าครอบครองพื้นที่สูงโล่งก่อน แล้วป้องกันเส้นทางส่งกำลังบำรุงให้จงดี จักได้เปรียบ บางภูมิประเทศออกตีได้สะดวก แต่ขากลับจะมีภัย เหล่านี้คือพื้นที่กับดัก ภูมิประเทศเยี่ยงนี้มีด้านเดียว พึงรอจนข้าศึกเผอเรอ จะสามารถออกไปโจมตีจากภูมิประเทศเยี่ยงนี้แล้วได้ชัยชนะ หลีกเลี่ยงข้าศึกที่เตรียมพร้อม หากโจมตีจะเสียการ เหตุคือกลับไม่ได้ จักมีภัย ภูมิประเทศเยี่ยงนี้มิได้เปรียบ บางภูมิประเทศหากจากไปจักสูญเสียความได้เปรียบ หากข้าศึกออกจากพื้นที่นี้เขาก็จะสูญเสียความได้เปรียบเฉกเช่นกัน เรียกพื้นที่เยี่ยงนี้ว่าภูมิประเทศเกื้อหนุน ภูมิประเทศเช่นนี้ช่วยเสริมเพิ่มความเข้มแข็ง ข้าศึกอาจหาทางล่อหลอกเราออกไป จงแข็งใจ ยึดไว้ให้มั่น แต่หากเป็นพื้นที่ของข้าศึกจงหาทางล่อหลอกข้าศึกออกจากพื้นที่นั้น แล้วเข้าตีเมื่อข้าศึกออกมาแล้ว ภูมิประเทศเยี่ยงนี้ให้ความได้เปรียบ บางภูมิประเทศมีความคับแคบ จงรีบชิงเข้าภูมิประเทศนี้ก่อน เข้าครอบครองพื้นที่นี้ไว้แล้วรอข้าศึก บางครั้งข้าศึกอาจเข้าถึงพื้นที่เยี่ยงนี้ก่อน หากข้าศึกครอบครองพื้นที่เยี่ยงนี้ก่อนแล้ว จงอย่าได้ตามเข้าไป แต่กหากข้าศึกยังครอบครองไม่สำเร็จจงเร่งเข้าตี บางภูมิประเทศมีเครื่องกีดขวาง จงเร่งรีบไปให้ถึงภูมิประเทศเยี่ยงนี้ก่อน ต้องรีบเข้าครอบครองที่สูงโล่งของภูมิประเทศนี้ เพื่อจะได้เป็นฝ่ายรอคอยข้าศึก บางครั้งข้าศึกอาจเข้าครอบครองพื้นที่นี้ก่อน หากเป็นเช่นนั้น จงล่อหลอกเขาออกมา แต่อย่าได้ตามเขาเข้าไป บางภูมิประเทศอยู่ไกลเกินไป แม้นว่ากำลังอาจดูเท่ากับข้าศึก แต่จักแพ้หากแม้เปิดศึก แม้นโรมรันจักไม่เป็นผลดี ภูมิประเทศมีอยู่หกประเภท สนามรบแต่ละอย่างมีกฏเกณฑ์ของมันเอง ในฐานะแม่ทัพเราต้องรู้ว่าจะไปที่ใด ต้องตรวจสอบแต่ละภูมิประเทศอย่างถี่ถ้วน

บางกองทัพอาจแพ้เหลี่ยม บางกองทัพอาจย่อหย่อน บางกองทัพอาจปวกเปียก บางกองทัพอาจแตกสลาย บางกองทัพอาจอลหม่าน บางกองทัพอาจแตกหนี พึงรู้จุดอ่อนหกประการนี้ จุดอ่อนหกประการเป็นสาเหตุให้เสียจังหวะและทำลายสถานะ ทั้งหมดล้วนเกิดจากการบัญชาของแม่ทัพ ต้องรู้จุดอ่อนทั้งหก ต้องเข้าใจว่าอะไรนำไปสู่ความพ่ายแพ้ เป็นหน้าที่สำคัญของแม่ทัพ จักไม่ศึกษาให้เชี่ยวชาญมิได้ ต้องควบคุมการใช้ภูมิประเทศให้จงดี ภูมิประเทศเสริมความแข็งแกร่งให้กับกองทัพของเราได้ ต้องรู้จักวิเคราะห์ข้าศึก เพื่อจะได้หาทางทวีกำลังให้เหนือกว่าเพื่อชนะ ต้องวิเคราะห์สิ่งกีดขวาง ภยันตราย และระยะทาง เหล่านี้คือ วิธีบัญชาการอันสำคัญ เข้าใจภูมิประเทศก่อนออกรบ ย่อมจะชนะสงคราม ไม่เข้าใจภูมิประเทศแล้วออกรบ ย่อมพ่ายแพ้ จงลงมือทำสงครามเมื่อมั่นใจว่าจะชนะ ไม่ว่าจะได้รับคำสั่งเช่นไร แม้นว่าเจ้าเมืองจะสั่งห้ามสู้ เมื่อเห็นหนทางชนะแล้วต้องออกรบ บางครั้งการออกรบอาจนำไปสู่ความพ่ายแพ้แม้เจ้าเมืองจะสั่งให้สู้ เมื่อสู้แล้วจะพ่ายแพ้จงหลีกเลี่ยงสงคราม บุกต้องไม่หวังคำยกย่อง ล่าถอยต้องไม่กลัวอับอาย ภารกิจสำคัญคือ การรักษาชีวิตไพร่พล นี่คือ หกาทางรับใช้ชาติ นี่คือ รางวัลที่สามารถมอบแด่ชาติ

เอาใจใส่ไพร่พลประดุจทารก แม้นบุกป่าฝ่าเขาคนเหล่านี้ก็จะตามแม่ทัพของเขาไป ดูแลไพร่พลประดุจบุตรรัก แม้นจะต้องไปตายพวกเขาก็จะไม่หวั่น บางแม่ทัพมีใจกรุณา แต่ใช้คนไม่เป็น มีความรักต่อไพร่พล แต่ไม่สามารถบัญชาการได้ ไพร่พลไร้ระเบียบวุ่นวาย แม่ทัพเยี่ยงนี้ทำให้ไพร่พลเสียคน ไพร่พลเป็นเยี่ยงนี้ย่อมไร้ประโยชน์

หากรู้ว่า (ฝ่ายเรา) ไพร่พลพร้อมออกโจมตี แต่ไม่รู้ว่าข้าศึกมิได้เปิดโอกาสให้โจมตีแล้ว รบร้อยครั้งจักชนะห้าสิบครั้ง หากรู้ว่าข้าศึกอ่อนแอ แต่ไม่รู้ความพร้อมของฝ่ายเราแล้ว รบร้อยครั้งจักชนะห้าสิบครั้ง หากรู้ว่าข้าศึกอ่อนแอ และรู้ว่าฝ่ายเรามีความพร้อม แต่ไม่รู้จะวางกำลังในสนามรบอย่างไรแล้ว รบร้อยครั้งก็ยังชนะเพียงห้าสิบครั้ง แม่ทัพที่แตกฉานในการสัประยุทธ์ ลงมือกระทำสิ่งใดย่อมไม่มีลังเล หนทางปฏิบัติจักไร้ขีดจำกัด ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง รู้ฟ้ารู้ดิน จึงชนะอย่างสมบูรณ์

22 ธันวาคม 2552

  • 22:46
การเดินทัพ

ซุนวูกล่าวว่า อันการบัญชาทัพต้องวินิจฉัยข้าศึก ข้ามเขาต้องอิงหุบ ตั้งทัพให้อยู่ในที่สูง หากข้าศึกอยู่สูงอย่าไต่ขึ้นตี นื่คือวิธีบัญชาทัพในเขตเขา พบแม่น้ำให้ถอยห่าง ข้าศึกข้ามลำน้ำให้รอคอย อย่าลอยคอเข้าจู่โจมกลางลำน้ำ ปล่อยให้ข้าศึกข้ามขึ้นฝั่งมาได้ครึ่งหนึ่งแล้ว จึงเข้าโจมตี ต้องรักษาศักย์สงครามไว้ให้ดี อย่ารับศึกกลางน้ำ ตั้งทัพให้อยู่ในที่ต้นน้ำและสูงโล่ง อย่าตั้งค่ายปลายน้ำ

นี่คือวิธีบัญชาทัพในเขตน้ำ ยามต้องข้ามหนองน้ำ ให้รีบรุดข้ามไปอย่าได้หยุด หากประจันข้าศึกกลางหนอง ต้องพึ่งหญ้าน้ำ หลังต้องหันอิงหมู่ไม้ นี่คือวิธีบัญชาทัพในเขตหนอง บนที่ราบสูงพึงอาศัยความคล่องตัว ให้อยู่ในที่ด้านขวาและด้านหลังเป็นที่สูง หันหน้าเข้าหาภัย หันหลังเข้าหาพวก นี่คือวิธีบัญชาทัพในที่ราบ เหล่านี้ คือ หนทางสร้างความได้เปรียบสี่ลักษณะ เป็นวิธีที่จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ใช้ปราบปรามกบฏทั้งสี่

กองทัพเข้มแข็งในที่สูง อ่อนแอในที่ต่ำ ตั้งค่ายบนเนินเขาด้านทิศใต้ที่แดดใส ย่อมดีกว่าบนทิศเหนือที่ร่มครึ้ม มีเสบียงสมบูรณ์ ชัยภูมิมั่นคง ไพร่พลจักปราศจากโรคภัย ทำได้ถูกต้องดั่งนี้ย่อมมีชัยเป็นแม่นมั่น ยามต้องตั้งรับบนเนินเขาหรือริมแม่น้ำ จงอยู่ด้านใต้ในแสงตะวัน ให้ที่สูงอยู่ด้านหลังและข้างขวา เยี่ยงนี้ย่อมดีต่อกองทัพ เยี่ยงนี้คือตำแหน่งแห่งพลัง ฝนตกหนักจนน้ำไหลเชี่ยวให้รีบหยุดทัพ หากจำเป็นต้องข้ามลำน้ำ พึงรอให้วิกฤติผ่านพ้นก่อนจึงทำ ทุกพื้นที่สามารถมีน้ำป่าไหลหลาก ทะเลสาปบางแห่งอาจมีน้ำเป็นครั้ง สิ่งกีดขวางบางอย่างอาจปรากฏเป็นบางคราว ป่าบางแห่งอาจมีบ้างไม่มีบ้าง บางพื้นที่อาจมีน้ำท่วมเพียงบางฤดู รอยแยกอาจปรากฏเพียงบางเวลา จงรีบเลี่ยงไปให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้โดยพลัน พึงอย่าได้ย่างกรายเข้าใกล้ หนีให้ห่างแสนไกล ส่วนข้าศึกให้นำ (เขา) เข้าใกล้ หัน (ด้าน) หน้าเราเข้าหาภัยจำพวกนี้ ส่วนข้าศึกให้เขาหัน (ด้าน) หลัง ด้านปีก (ข้าง) ของกองทัพอาจซ่อนภัย อาจเป็นหลุมบ่อ หรือทะเลสาป เป็นป่ากก หรือป่าอ้อ เป็นภูเขา หรือแมกไม้ เหล่านี้ข้าศึกล้วนใช้เป็นที่กำบังพรางกายได้ พึงตรวจตราให้ถ้วนทั่ว อาจมีคนกำลังซุ่มรอจังหวะเข้าจู่โจม

บางครั้งข้าศึกอยู่ใกล้แต่กลับสงบระงับ แสดงว่าอาจมีคนหลบซ่อนอยู่ตามที่กำบังเหล่านี้ บางคราวอาจอยู่ไกลแต่กลับยั่วเย้า แสดงว่าพวกเขาต้องการให้เราเป็นฝ่ายเข้ากระทำ บางครั้งข้าศึกอาจย้ายค่าย แสดงว่าพวกเขากำลังพยายามหาที่ใหม่ให้ได้เปรียบ ต้นไม้ในป่าไหวเอนโดยไร้ลม หวังได้เลยว่าข้าศึกกำลังมา หญ้าสูงที่บดบังสายตา หน้ากังขาว่าจะมีใครซ่อนอยู่ นกที่โผผิน แสดงว่าอาจมีข้าศึกซ่อนตัวอยู่แถวนั้น สัตว์ที่แตกตื่น บ่งบอกได้ว่าอาจมีการซุ่มโจมตี จงสังเกตฝุ่น บางครั้งมันอาจลอยสูงฟุ้งสู่ฟ้า อย่างนี้แสดงว่าเกวียนกำลังมา หากฝุ่นลอยต่ำแต่กระจายกว้าง บ่งบอกได้ว่ามีทหารเดิยเท้าอยู่แถวนั้น แต่หากฝุ่นกระจัดกระจายหลายพื้นที่แล้วไซร้ แสดงว่าทหารข้าศึกกำลังเก็บฟืนเป็นแม่นมั่น หากฝุ่นทีเพียงบางเบาแล้วค่อยเจือจางลง แสดงว่าคนเหล่านั้นกำลังปักหลักตั้งค่าย หากข้าศึกกระซิบพูดแผ่วเบาพร้อมทั้งซ่องสุมกำลัง แสดงว่าพวกเขากำลังวางแผนบุก หากข้าศึกส่งเสียงโขมงโฉงเฉง และทำท่าเหมือนจะบุกเข้ามา แสดงว่าพวกเขากำลังวางแผนจะล่าถอย หากเห็นรถรบคันเล็กออกมาจากค่ายก่อน ตามด้วยการขยับปีกออกด้านข้าง แสดงว่าพวกเขากำลังจัดรูปขบวน หากเขาเพรียกหาสันติภาพ แต่มิเสนอให้มีการเจรจากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แสดงว่าน่าจะมีกลอุบายเสียเป็นแม่นมั่น หากข้าศึกวิ่งแยกจากกัน แต่มีระเบียบ แสดงว่าพวกเขากำลังจะเริ่มออกตี หากเห็นครึ่งหนึ่งรุกมาข้างหน้า ส่วนอีกครึ่งถอยไปข้างหลังแล้วไซร้ แสดงว่าเขากำลังพยายามออกอุบายล่อลวงเป็นแน่แท้ หากนายกองสั่งบุก แต่ไพร่พลยืนเหม่อ แสดงว่ากองทัพนี้ขาดอาหาร หากคนแรกที่ตักน้ำแล้วรีบดื่มเสียเอง แสดงว่าพวกเขากระหายจัด หากเห็นความได้เปรียบแล้วยังไม่บุกเข้ามา แสดงว่าไพร่พลอ่อนล้า หากนกรวมตัวกัน แสดงว่าข้าศึกได้ละทิ้งค่ายแล้ว เสียงข้าศึกกู่ร้องกัน แสดงว่าพวกเขาเกิดความกลัว หากกองทัพข้าศึกดูสับสนวุ่นวาย แสดงว่าแม่ทัพนายกองของฝ่ายนั้นย่อหย่อน หากเห็นธงและป้ายสัญญาณของข้าศึกแกว่งไกว แสดงว่าคำสั่งกำลังถูกส่งออกไป หากนายทหารของฝ่ายข้าศึกแสดงอาการฉุนเฉียว แสดงว่าพวกเขาอ่อนล้าเต็มที หากเห็นไพร่พลฝ่ายตรงข้ามฆ่าม้าเอาเนื้อมากิน แสดงว่าคนพวกนั้นขาดเสบียง ทานข้าวแล้วไม่นำหม้อไปเก็บ แสดงว่าปล้นสะดมมาได้ไม่ดี หากไพร่พลข้าศึกมีท่าทีนอบน้อม และไม่ขัดคอกัน แต่ดูเหมือนไม่ค่อยอยากจะพูดจะจาต่อกันแล้ว แสดงว่าพวกเขาออกจะแตกความสามัคคีกัน หากกองทัพข้าศึกต้องใช้สินบนจูงใจไพร่พลจนเกินงาม แสดงว่าพวกเขากำลังลำบาก หากฝ่ายข้าศึกต้องลงโทษคนของตนอย่างมากมาย แสดงว่าไพร่พลของพวกเขาอ่อนล้าอิดโรย หากข้าศึกแรกทำท่าคุกคาม ต่อมากลับเหมือนกลัวแล้วไซร้ แสดงว่าทัพใหญ่เขายังไม่มาถึง หากข้าศึกพยายามญาติดีกับเรา แสดงว่าเขาอยากพักเอาแรง หากข้าศึกคึกคักฮึกเหิม เป็นดั่งนี้อยู่นาน แต่มิได้ลงมือบุก แต่ก็มิได้ผละไปจากสนามรบ พึงระวังไว้ให้จงดี

หากกองทัพอ่อนแอ จงเร่งหากำลังพลมาเพิ่ม สถานการณ์เช่นนี้ พึงใช้ความสุขุมคัมภีรภาพ รวมกำลังไว้ให้มั่น เตรียมพร้อมรับมือหากข้าศึกจู่โจม รวบรวมผู้คนอยู่ในที่ตั้ง พึงใช้ความละเอียดอ่อนในการวางแผน และปรับแผนตามข้าศึก ต้องรวบรวมผู้คนไว้ให้มาก ทหารใหม่ยังไม่สนิทแล้วลงโทษจักมิเชื่อฟัง ทหารมิเชื่อฟัง ย่อมไร้ประโยชน์ ทหารเก่าพึ่งได้แต่ต้องไม่ทำโทษโดยไร้เหตุ มิฉะนั้นทหารเก่าก็จักมิเชื่อฟัง ไพร่พลต้องปกครองด้วยคุณธรรม ยิ่งได้ชัยมาด้วยกันผู้คนยิ่งรักใคร่กลมเกลียว ต้องฝึกไพร่พลให้เชื่อฟัง ฝึกไพร่พลฟังบัญชาเป็นวิสัย ไพร่พลจักภักดี มิฝึกไพร่พลฟังบัญชาเป็นวิสัย ไพร่พลจักกระด้างกระเดื่อง การฟังบัญชาเป็นวิสัย หลอมหัวใจให้ไพร่พลกับแม่ทัพเป็นหนึ่งเดียว

21 ธันวาคม 2552

  • 21:14
ความสามารถในการปรับตัว

ซุนวูกล่าวว่า ทุกคนใช้ยุทธศาสตร์ ในฐานะแม่ทัพ ต้องรับบัญชาจากเจ้าเมือง แล้วระดมไพร่พล พื้นที่วิบากต้องไม่ตั้งค่าย พื้นที่คาบเกี่ยวพึงคบมิตร พื้นที่ตัดขาดอย่าเชื่องช้า เมื่อถูกล้อมต้องใช้เหลี่ยม ประสบวิกฤติต้องสู้ตาย เส้นทางบางสายไม่ควรสัญจน บางกองทัพไม่ควรต่อกรด้วย บางที่มั่นไม่ควรเข้าโจมตี บางตำแหน่งแห่งที่ไม่ควรรักษา คำบัญชาบางอย่างไม่ควรรับ แม่ทัพต้องเชี่ยวชาญการปรับตัวให้ได้เปรียบ จึงจะเป็นผู้รู้การศึก แม่ทัพที่ไม่ชำนาญการปรับตัว พวกเขาอาจรู้ว่าภูมิประเทศมีรูปร่างอย่างไร แต่ก็ยังมิสามารถใช้สิ่งเหล่านั้นเพิ่มความได้เปรียบ บางแม่ทัพไม่รู้ว่าจะปรับวิธีการรบอย่างไร พวกเขาอาจพบตำแหน่งที่ได้เปรียบ แต่มิสามารถใช้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วางแผนพึงสร้างสรรค์ พึงปรับตัวตามเงื่อนไขแห่งโอกาสและอุปสรรค อาจใช้วิธีต่างๆ แต่ได้ผลอย่างเดียวกัน ปัญหาอาจแตกต่าง แต่เราต้องหาทางออกได้เสมอ ปรับเปลี่ยนข้าศึกต้องรู้จุดอ่อน ต้องการให้ข้าศึกยุ่งต้องหางานให้ทำ ต้องการให้ข้าศึกเร่งรุดต้องเอาผลประโยชน์เข้าล่อ ขึ้นชื่อว่านักรบอย่าได้วางใจว่าข้าศึกจะไม่มา พึงวางใจความพร้อมที่จะรับมือกับพวกเขาจะดีกว่า อย่าได้เชื่อว่าข้าศึกจะไม่จู่โจม เชื่อความสามารถในการเลือกสถานที่ที่ข้าศึกไม่สามารถเข้าตีย่อมดีกว่า

จุดอ่อนห้าประการของแม่ทัพ สู้ตายอาจถูกฆ่า, กลัวตายอาจถูกจับ, ฉุนเฉียวอาจถูกยั่ว, หยิ่งในศักดิ์ศรีอาจถูกหยาม, รักราษฏรอาจถูกก่อกวน ห้าประการนี้เป็นจุดอ่อน เป็นความผิดพลาดที่มักพบได้ในแม่ทัพ ล้วนเป็นภัยแก่การบังคับบัญชา กองทัพล่มสลายแม่ทัพมอดม้วย จุดอ่อนห้าประการนี้ จักไม่พินิจพิเคราะห์หาได้ไม่

19 ธันวาคม 2552

  • 21:17
"มีคำชมเชยที่ดีสักคำ เขาก็มีชีวิตอยู่ได้ทั้งเดือน"
ผมนำคำคมของ มาร์ค ทเวน (Mark Twain) มาฝาก เขาเป็คนที่น่าสนใจและน่าศึกษา เราลองมาดูประวัติคร่าวๆของเขาดู

     มาร์ก ทเวน (Mark Twain) เป็นนามปากกาของ ซามูเอล แลงฮอร์น คลีเมนส์ (Samuel Langhorne Clemens) ช่วงชีวิตของเขาคือ (30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835 - 21 เมษายน ค.ศ. 1910) เป็นนักเขียน นักบรรยาย และนักเขียนเรื่องขบขัน ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง. นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว เขายังเป็น คนขับเรือกลไอน้ำ นักขุดทอง และนักหนังสือพิมพ์

     ในช่วงสูงสุดของชีวิตเขานั้น เขาเรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง ในยุคนั้นเลยทีเดียว. วิลเลียม ฟอล์คเนอร์ (William Faulkner) ได้เขียนเกี่ยวกับ มาร์ก ทเวน ไว้ว่า เป็น "นักเขียนอเมริกันแท้ๆ คนแรก และพวกเรานับแต่นั้นมาเป็นทายาทของเขา"

     ผลงานของเขาที่น่าจะเป็นที่คุ้นตาของคนไทย ก็คือ ทอม ซอว์เยอร์ ผจญภัย (The Adventures of Tom Sawyer) และ ฮัคเคิลเบอรี่ ฟินน์ ผจญภัย (The Adventures of Huckleberry Finn)
ภาพรวมอาชีพการงาน

     ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ มาร์ก ทเวน ได้ทิ้งไว้ให้กับ วรรณกรรมอเมริกัน ก็คือ ฮัคเคิลเบอรี่ ฟินน์ พจญภัย. โดย เออร์เนสท์ เฮมมิ่งเวย์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า
All modern American literature comes from one book by Mark Twain called Huckleberry Finn. ... all American writing comes from that. There was nothing before. There has been nothing as good since.

     นิยายเรื่องอื่นที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ "ทอม ซอว์เยอร์ ผจญภัย", "The Prince and the Pauper", "A Connecticut Yankee in King Arthur's Court" และงานเขียนสารคดี "Life on the Mississippi"

     ทเวน เริ่มต้นต้วยการเป็นนักเขียนบทกลอนขำขัน, แต่สุดท้ายกลายเป็นว่า เขาเป็นผู้บัืนทึกประวัติศาสตร์ที่น่ากลัว เกือบจะเรียกได้ว่าแหกคอกเลยก็ว่าได้. จากที่ได้ประสบกับ ความยโสโอหัง ความเจ้าเลห์เพทุบาย และการเข่นฆ่ากันของเหล่ามนุษยชาติ ในช่วงตอนกลางของอาชีพ, เขาได้ผสมผสาน ความขบขัน การดำเนินเรื่องที่แข็งขัน และการวิจารณ์สังคม เอาไว้อย่างไม่มีใครเปรียบ ในงานเขียนของเขา ฮัคเคิลเบอรี่ ฟินน์ พจญภัย.

     ทเวน เป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้ภาษาชาวบ้าน เขาเป็นผู้ที่ช่วยสร้างวรรณกรรมอเมริกัน ที่มีลักษณะเฉพาะตัว จากภาพลักษณ์ และภาษาของชาวอเมริกัน และได้ทำให้มันเป็นที่นิยมขึ้นมา ทเวน นั้นมีความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ เขาเป็นเพื่อนที่คบหามานานกับ Nikola Tesla. ทั้งคู่มักจะใช้เวลาร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ (เช่น ใน ห้องทดลองของ Tesla) เรื่อง A Connecticut Yankee in King Arthur's Court นั้น, ก็ได้ใช้การเดินทางผ่านกาลเวลา ซึ่งเดินทางจากช่วงเวลาของเขา กลับไปในยุคของกษัตริย์อาเธอร์ และได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับยุคนั้น.

     ทเวน เป็นหนึ่งผู้นำใน Anti-Imperialist League (กลุ่มผู้ต่อต้านการเข้าครอบงำประเทศอื่นโดยสหรัฐฯ) ซึ่งได้ต่อต้าน การเข้ายึดครองประเทศฟิลิปปินส์ ของสหรัฐฯ เขาได้เขียนเรื่อง "Incident in the Philippines", ซึ่งตีพิมพ์หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว ในปี ค.ศ. 1924, เพื่อตอบโต้เหตุการณ์ Moro Crater Massacre ที่ชาว Moro 600 คนถูกสังหาร.คำ "Mark Twain" เป็นคำที่มีความหมายสองนัย นัยหนึ่งนั้น เป็นหน่วยวัดความลึกทางน้ำเท่ากับ 2 fathom ส่วนอีกนัยนั้นหมายถึง "safe water" หลายคนเชื่อว่าคำ "Mark Twain" น่าจะมาจากความหมายที่สอง เนื่องมาจากนิสัยชอบดื่มของ ทเวน มากกว่าที่จะมาจากการเป็นนักเดินเรือของเขา นอกจากนามปากกา มาร์ก ทเวน แล้วเขายังใช้ชื่อ "Sieur Louis de Conte" ในนิยายอัตชีวประวัติของ โจนออฟอาร์ค (Joan of Arc)


สำหรับคำคมอื่นๆที่คนรู้จักก็มีอีกเช่น
  • ผมไม่เคยยอมให้การไปโรงเรียนมาแทรกแซงการศึกษาของผม
  • ถ้าคุณไม่อ่านหนังสือพิมพ์ คุณจะเป็นคนที่ตกข่าวสาร แต่หากคุณอ่านหนังสือพิมพ์เมื่อใดคุณกลับเป็นคนที่ถูกลวงด้วยข้อมูลข่าวสารแทน
  • ใส่ไข่ทั้งหมดทุกฟองของคุณไว้ในตระกร้าใบเดียว และเฝ้าดูแลตระกร้านั้นให้ดี
  • มีคำชมเชยที่ดีสักคำ เขาก็มีชีวิตอยู่ได้ทั้งเดือน
  • การเชื่อมั่นสิ่งที่ดีที่สุดของบุคคลหนึ่ง จะดึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเขาออกมา จงหลีกห่างผู้ซึ่งกดความทะเยอทะยานของคุณไว้ คนที่เล็กน้อยต้อยต่ำจะปฏิบัติเช่นนั้นต่อคุณเสมอ แต่คนที่ยิ่งใหญ่จะทำให้คุณรู้สึกว่า คุณเองก็สามารถยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน
  • สัจจะคือสิ่งที่มีค่ายิ่ง จงใช้อย่างประหยัด
  • พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมา เพราะผิดหวังในลิง
  • ผู้ที่ไม่อ่านหนังสือดีๆ ไร้ค่ากว่า ผู้ที่อ่านไม่ออก
  • บุคคลที่น่าสนใจที่สุดในรอบศตวรรษเดียวกันกับเขา มีอยู่สองคน คือ นโปเลียน กับ เฮเลน เคลเล่อร์
  • ความซื่อสัตย์นั้นเป็นสิ่งที่ผมกลัวยิ่งกว่ากฎหมาย
...เป็อย่างไรครับ เป็นคำพูดง่ายๆแต่ดูกินใจ และเป็นข้อคิดที่ดี
แล้วพบกันใหม่ครับ...

18 ธันวาคม 2552

  • 23:26
การสัประยุทธ์
ซุนวูกล่าวว่า ทุกคนล้วนต้องใช้ยุทธศาสตร์ หลังแม่ทัพรับโองการจากประมุข จักระดมไพร่พล จัดหน่าย สร้างค่าย แต่ยังต้องหลีกภัยจากการสัประยุทธ์ให้จงดี การเผชิญหน้าอาจเป็นภัย ดังนี้ ทางอ้อมจึงอาจเป็นทางสั้นที่สุด เพราะเหตุนี้ ปัญหาจึงอาจถือเป็นโอกาส พึงใช้ทางอ้อมเป็นทางสัญจร พึงล่อด้วยประโยชน์ เมื่อล้าหลังพึงเร่งฝีเท้า เมื่อล้ำหน้าพึงชะลอ พึงรู้ทางอ้อมที่สามารถช่วยให้บรรลุแผนได้ตรงที่สุด “จงเข้าสัประยุทธ์เมื่อได้เปรียบ การแสวงหาการสัประยุทธ์เพียงเพื่อได้สัประยุทธ์จักเป็นภัย” หากกองทัพสู้เพื่อผลประโยชน์ ย่อมไม่สามารถจับศรัตรูได้

กองทัพที่สู้เพื่อผลประโยชน์ จักสูญเสียซึ่งสัมภาระ แม้ว่ารักษาอาวุธไว้แล้ว ไล่ตามข้าศึกไม่มีหยุดพักทั้งกลางวันกลางคืน แยกย้ายกันไปตามถนนหลายสายในเวลาเดียวกัน เดินทางหลายร้อยลี้เพื่อตามล่าผลประโยชน์ แล้วข้าศึกกลับจับแม่ทัพและไพร่พลของเราได้ ทหารที่แข็งแกร่งไปถึงก่อน ทหารที่อ่อนด้อยไปถึงทีหลัง หากใช้วิธีนี้จะมีผู้ไปถึงเพียงหนึ่งในสิบเท่านั้น อาจเดินไกลห้าสิบลี้เพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ แต่แม่ทัพและกองทัพย่อมซวนเซ หากใช้วิธีนี้จะมีคนเดินทางไปถึงเพียงครึ่งเดียว อาจเดินไกลสามสิบลี้เพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ เพียงสองในสามเท่านั้นที่จะไปถึง หากปล่อยให้กองทัพเดินทางโดยปราศจากขบวนสัมภาระที่ดี กองทัพก็จะสลาย ปราศจากเสบียงอาหารกองทัพย่อมมลาย หากไม่ประหยัดธัญญาหารกองทัพย่อมมลาย อย่าปล่อยให้ข้าศึกล่วงรู้แผนการของฝ่ายเรา ทั้งต้องไม่ลังเลที่จะเสริมสร้างพันธมิตร ต้องรู้ภูเขารู้ป่า รู้อุปสรรคที่ขัดขวาง รู้ว่ามีหนองบึงอยู่หนใด หากไม่รู้จะเคลื่อนทัพหาได้ไม่ หากไม่รู้จะต้องใช้คนท้องถิ่นนำทาง หากไม่รู้จะไม่สามารถใช้ภูมิประเทศสร้างความได้เปรียบ

ทำสงครามพึงมิเปิดเผยตำแหน่งที่แท้จริง ตำแหน่งลวงช่วยให้เคลื่อนที่สะดวก การแยกและการรวมช่วยให้เราปรับตัวเอง และเปลี่ยนสถานการณ์ได้ เราจักเคลื่อนที่ได้รวดเร็วประดุจลมพัด สามารถเพิ่มจำนวนได้ดั่งต้นไม้ในป่า สามารถบุกสามารถปล้นสะดมได้ดุจอัคคีภัยบรรลัยกัลป์ ตั้งมั่นได้ดังหนึ่งภูผา สามารถคงความลึกลับได้ดั่งเมฆหมอก สามาถรฟาดผ่าได้ประดุจอสนีบาต แบ่งกำลังเพื่อปล้นสะดมหมู่บ้าน “ในพื้นที่โล่ง การแยกกำลังช่วยให้ได้เปรียบ” ไม่ต้องห่วงการจัดทัพ ขอเพียงให้เคลื่อนที่ได้เท่านั้น รู้ว่าทางเส้นใดอ้อมเส้นใดตรง เยี่ยงนี้จึงจะประสบความสำเร็จในการสัประยุทธ ในสมรภูมิ “ส่งเสียง จักไม่ได้ยิน ต้องใช้ฆ้องใช้กลอง มองก็มิสามารถแลเห็น ต้องใช้ธงทิวส่งสัญญาณ” ต้องใช้ฆ้อง กลองและธงทิวให้เชี่ยวชาญ ให้สั่งการไพร่พล ให้ได้ยินเหมือนเป็นหนึ่งเดียว ต้องรวมคนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ผู้กล้าจะต้องไม่บุกออกไปเพียงลำพัง ผู้หวาดจะต้องไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง พึงบัญชาให้พวกเขาทำงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว รบกลางคืน ต้องใช้คบไฟและกลองให้มากๆ กลางวันใช้ธงทิวให้มาก ดูแลไพร่พลให้สามารถเห็นสัญญาณได้ชัดเจนและทั่วถึง

กองทัพควบคุมได้ด้วยขวัญ แม่ทัพต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ ในตอนเช้าพลังงานของผู้คนย่อมเต็มเปี่ยม เมื่อเวลาผ่านไปอาจโรยรา ตกเย็นต่างก็สิ้นแรง เราควรใช้กำลังอย่างชาญฉลาด หลีกเลี่ยงข้าศึกที่ฮึกเหิม จู่โจมเมื่อไพร่พลข้าศึกเกียจคร้านอิดโรย เหล่านี้คือ หนทางการคุมพลัง พึงใช้วินัยรับมือความอลหม่านของสงคราม ใช้สบายรอเหนื่อย เหล่านี้คือ หนทางการคุมอารมณ์ความรู้สึก พึงรออยู่ใกล้บ้านเพื่อเตรียมรับมือข้าศึกที่ต้องเดินทางไกล พักอย่างสบายเพื่อรอข้าศึกที่เหนื่อยล้า อิ่มเพื่อรอข้าศึกที่อดอยากปากแห้ง เหล่านี้ คือ หนทางการคุมกำลัง อย่าได้ลวงข้าศึกที่มีระบบระเบียบในการบังคับบัญชาดี อย่าเพิ่งเข้าโจมตีหากรูปขบวนเขาเข้มแข็ง เหล่านี้ คือ หนทางการปรับตัว กฏของทหารที่ต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดมีอยู่ว่า อย่าบุกขึ้นที่สูง อย่าเข้าตีคนจนตรอก อย่าไล่คนแสร้งหนี อย่าได้โจมตีข้าศึกคนที่เข้มแข็งที่สุด อย่ากินเหยื่อที่ข้าศึกอ่อย อย่าขัดขวางกองทัพที่กำลังบ่ายหน้ากลับบ้าน จงให้ทางออกแก่กองทัพที่ถูกปิดล้อม อย่าได้กดดันข้าศึกที่หมดหนทางสู้ เหล่านี้ คือ หนทางการใช้ทักษะทางทหาร

16 ธันวาคม 2552

  • 22:38
ซุนวูกล่าวว่า

สงครามเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชาติ เป็นเรื่องถึงเป็นถึงตาย เป็นวิชาการอยู่รอดหรือถูกทำลาย พึงเรียนรู้ให้จงดี มีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาอยู่ห้าประการด้วยกัน จงศึกษาองค์ประกอบเหล่านี้เมื่อวางแผนรบ เพื่อให้รู้สถานการณ์

  • จงพิจารณาระบบความคิด
  • จงพิจารณาดินฟ้าอากาศ
  • จงพิจารณาพื้นที่
  • จงพิจารณาแม่ทัพ
  • จงพิจารณาวิธีการทางทหาร

เริ่ม จากระบบความคิด จงบัญชาผู้คนในลักษณะ ให้พวกเขาได้มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน เราสามารถนำพวกเขาไปสู่ความตาย เราสามารถนำพวกเขาให้มีชีวิต พวกเขาต้องซื่อสัตย์และไม่กลัวตาย ต่อไปเป็นเรื่องดินฟ้าอากาศ พึงดูว่าแดดออกหรือมืดครึ้ม ร้อนหรือหนาว กำลังอยู่ในฤดูใด ต่อไปเป็นสภาพพื้นที่ ดูว่าไกลหรือใกล้ พื้นที่ยากเข็ญหรือง่ายดาย เป็นที่โล่งหรือที่แคบ ล้วนเป็นเรื่องถึงเป็นถึงตาย ต่อไปเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา แม่ทัพต้องฉลาด ไว้ใจได้ เอาใจใส่ กล้าหาญและเข้มงวด สุดท้ายเป็นเรื่องของวิธีการทางทหาร เป็นเรื่องของรูปแบบองค์กรซึ่งได้มาจากความรู้ด้านการจัดการ ต้องปฏิบัติให้ได้อย่างเชี่ยวชาญ

ทั้ง ห้าองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ผู้บังคับบัญชาต้องใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้นำมาซึ่งชัยชนะ หากไม่ใส่ใจหมายถึงพินาศย่อยยับ

จะวางแผนให้ได้ดี ต้องประมาณสถานการณ์ให้ถูกต้อง ต้องตั้งคำถามว่า รัฐใดมีระบบความคิดที่ถูกต้อง แม่ทัพใดชำนาญศึก ฤดูไหน สถานที่ใดมีความได้เปรียบ วิธีบัญชาการอย่างใดได้ผล กองกำลังกลุ่มไหนเข้มแข็ง นายทหารและกำลังพลฝ่ายไหนได้รับการฝึกมาดี การให้รางวัลและลงโทษอย่างใดมีเหตุผล สิ่งเหล่านี้จะบอกได้ว่าจะชนะ หรือพ่ายแพ้ แม่ทัพบางคนประมาณสถานการณ์เยี่ยงนี้ หากใช้แม่ทัพเหล่านี้จะชนะ จงรักษาพวกเขาไว้ แม่ทัพบางคนไม่สนใจประมาณสถานการณ์ หากใช้แม่ทัพเหล่านี้ย่อมพ่ายแพ้ จงกำจัดคนเหล่านี้เสีย

การฟังมีประโยชน์ ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ เป็นความช่วยเหลือจากภายนอก ช่วยให้ได้รับรู้ในสิ่งที่จะมีผลกระทบถึงการรบ ช่วยการประมาณการณ์ให้หาโอกาสได้ และช่วยให้ควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้

สงครามเป็นวิชาของการลวงล่อ เมื่อพร้อมจงทำประหนึ่งไร้ความสามารถ เมื่อกำลังเคลื่อนไหว จงทำประหนึ่งว่าอยู่เฉยๆ เมื่ออยู่ใกล้ข้าศึก จงแสดงประหนึ่งว่าอยู่ไกล เมื่ออยู่ไกล จงทำประหนึ่งอยู่ใกล้ หากศรัตรูอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบ จงหลอกล่อพวกเขาออกมา หากศรัตรูสับสน จงใช้ความแน่วแน่ หากศรัตรูแข็งแกร่ง จงเตรียมพร้อม หากศรัตรูฮึกเหิม จงทำให้ท้อแท้ หากศรัตรูอ่อนแอ จงยุให้อวดดี หากศรัตรูกำลังพักผ่อนออมแรง จงกระตุ้นให้ต้องทำงาน หากศรัตรูรวมกันติด จงแยกให้แตก โจมตีเมื่อเขาระวังตัวน้อยที่สุด จงออกเดินทางเมื่อเขาไม่คาดคิด “ย่อมสามารถเอาชนะได้ เมื่ออีกฝ่ายเดาใจไม่ถูก”

พึงออมกำลังไว้จนกว่าจะแน่ใจในชัยชนะ ให้ประเมินได้ว่า มีความได้เปรียบหลายประการเสียก่อน ก่อนออกรบ การประเมินอาจบ่งบอกว่าอาจไม่ชนะ ยังสามารถพึ่งพาความได้เปรียบ หลายความได้เปรียบนำมาซึ่งชัยชนะ ความได้เปรียบที่น้อยเกินไปนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ จะรู้ว่าได้เปรียบมากหรือน้อย ต้องประมาณสถานการณ์เสียก่อน เราจะรู้ว่าเราเป็นอย่างใดก็ด้วยอาศัยการสังเกต แล้วจะบอกได้ล่วงหน้าว่า รบครั้งนี้จะประสบชัยหรือพ่ายแพ้
  • 22:23
จุดอ่อนจุดแข็ง

ซุนวูกล่าวว่า จงไปถึงสนามรบก่อนข้าศึกเพื่อจะได้เป็นฝ่ายคอยข้าศึกอยู่อย่างสดชื่นสบายใจ หากฝ่ายตรงข้ามถึงสนามรบก่อน ฝ่ายเราจะต้องตะลีตะลานเข้าไป ย่อมเกิดความสับสนลนลาน ทำอะไรไม่ถูก หากต้องการความสำเร็จในการศึก คงเคลื่อนกำลัง แต่อย่าเคลื่อนเข้าสู่กำลังฝ่ายตรงข้าม เราสามารถทำให้ข้าศึกเป็นฝ่ายเข้ามาหาเราได้ โดยให้ผลประโยชน์แก่เขา เราสามารถทำให้ข้าศึกหลีกเลี่ยง ไม่เข้ามาก็ได้ หากข่มขู่ว่าจะได้รับอันตราย หากข้าศึกสดชื่น จงทำให้เหนื่อยล้า หากเขาอิ่ม จงทำให้อด หากเขาพักผ่อน จงอย่าให้อยู่นิ่ง ออกเดินอย่างสุขุมรีบไปยังที่ข้าศึกคาดไม่ถึง จะเดินทัพได้พันลี้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ก็เพราะเดินในที่ปลอดคน โจมตีแล้วต้องสำเร็จ โจมตีไปที่จุดอ่อนด้อยการป้องกัน “ยามป้องกัน ป้องกันจนข้าศึกไม่มีที่จะโจมตี”โจมตีอย่างชัดเจน ให้ข้าศึกไม่รู้ว่าจะป้องกันที่ตรงไหน “ป้องกันให้เชี่ยวชาญ อย่าให้ข้าศึกรู้ว่าควรโจมตีเราตรงที่ใด” จงลึกลับอย่างมีเหลี่ยม ไปถึงอย่างไรไม่มีรูปแบบที่เห็นได้เด่นชัด จงเร้นกายอย่างลี้ลับ ไปถึงอย่างไม่มีเสียง ใช้ทักษะทุกอย่างควบคุมการตัดสินใจของข้าศึก จงรุกเข้าไปในตำแหน่งที่เขาไม่สามารถป้องกัน จู่โจมผ่านจุดอ่อน ถอนกำลังยามข้าศึกไม่สามารถขับไล่ รวดเร็วให้เกินกว่าที่ข้าศึกจะไล่ได้ทัน จงเป็นฝ่ายเลือกรบ ข้าศึกอาจซ่อนอยู่หลังกำแพงสูงหรือคูลึก อย่าได้พยายามเอาชัยมาด้วยการเข้าตีตรงหน้า แต่จงเข้าโจมตีในที่ซึ่งพวกเขาต้องช่วยกัน

จงหลีกเลี่ยงสงครามที่เราไม่ต้องการ แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ แล้วปกป้องมัน อย่าให้ข้าศึกมีอะไรที่จะใช้ช่วยให้ชนะ ชักนำพวกเขามายังตำแหน่งที่เราเตรียมการตั้งรับไว้เป็นอย่างดี จงจ่ายงานให้ทุกคนยกเว้นตัวเอง แล้วรวมกำลังเมื่อข้าศึกแบ่งกำลัง รวมพลังให้เป็นหนึ่งเดียว ข้าศึกแบ่งกำลังย่อมแยกเป็นกลุ่มย่อย จงใช้กลุ่มใหญ่โจมตีกลุ่มย่อยเพียงกลุ่มเดียว เป็นคนหลายคนกับคนน้อยคน กำลังที่เหนือกว่าย่อมทำให้ผู้มีกำลังน้อยมิอาจต้านทาน หลังจากนั้นจงจัดการกลุ่มย่อยกลุ่มต่อไป ขยี้อย่างนี้ไปทีละกลุ่ม

จงรักษาสถานที่ที่ได้เลือกไว้ว่าจะใช้เป็นสมรภูมิให้เป็นความลับ ข้าศึกจะต้องไม่รู้ บีบให้ข้าศึกต้องเตรียมการรบในหลายพื้นที่ ให้พวกเขาต้องเตรียมการป้องกันในหลายพื้นที่ แล้วค่อยเข้าตีตรงจุดที่ได้เลือกไว้ ในลักษณะนี้กำลังข้าศึกจะถูกแบ่งจนเหลือเบาบาง หากเขาส่งทหารไปเพิ่มกำลังที่แนวหน้า เขาก็ต้องถอนทหารออกจากส่วนหลัง หากเขาส่งทหารไปเพิ่มกำลังที่ส่วนหลัง เขาก็ต้องถอนทหารออกจากแนวหน้า หากเขาส่งทหารไปเพิ่มกำลังที่ปีกขวา เขาก็ต้องถอนทหารออกจากปีกซ้าย หากเขาส่งทหารไปเพิ่มกำลังที่ปีกซ้าย เขาก็ต้องถอนทหารออกจากปีกขวา “หากไม่รู้ว่าจะถูกโจมตีตรงไหนก็จะต้องเตรียมตัวทุกที่ หากไม่รู้ตำแหน่งที่จะถูกโจมตี เขาก็จะมีจุดอ่อนทั่วทุกแห่ง” ข้าศึกมีกำลังน้อย เพราะต้องเตรียมรับศึกจากเรา ฝ่ายเราจะมีกำลังมาก เพราะให้ข้าศึกเป็นฝ่ายต้องเตรียมรับศึก

เราต้องรู้จักพื้นที่การรบ เราต้องเข้าใจจังหวะของการศึก เมื่อนั้นเราจะสามารถรุกคืบหน้าเข้าไปได้เป็นพันลี้อย่างผู้พิชิต หากไม่รู้จักพื้นที่การรบ ไม่เข้าใจจังหวะของการศึก ปีกซ้ายก็จะมิอาจช่วยปีกขวา ปีกขวาก็มิอาจช่วยปีกซ้าย แนวหน้าก็มิอาจช่วยแนวหลัง แนวหลังก็มิอาจช่วยแนวหน้า การสนับสนุนที่อยู่ใกล้เพียงสิบลี้ก็เหมือนอยู่ไกล ใกล้ก็เหมือนไกล จงควบคุมดุลการใช้กำลัง ข้าศึกอาจมีคนมาก แต่ก็จะเหมือนมีมากเกินไป แล้วจะช่วยให้พวกเขาได้รับชัยชนะได้ฉันใด? เรากล่าวว่า เจ้าต้องชนะ ข้าศึกอาจมีมากหลาย ก็สามารถทำให้รบมิได้

ยามกำหนดยุทธศาสตร์พึงวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง ยามดำเนินการตามแผน พึงรู้วิธีปฏิบัติและไม่ปฏิบัติ ยามเข้าสู่พื้นที่ พึงรู้ว่าพื้นที่ไหนเป็นจุดตาย พื้นที่ไหนอำนวยชัยเมื่อเข้าสู่สงคราม พึงรู้ว่ามีกำลังพลมากไป หรือน้อยไป รูปขบวนในการรบสำคัญยิ่ง จงเข้าสู่สงครามอย่างปราศจากรูปแบบ อย่าได้รีบด่วนจัดรูปแบบก่อนเวลาอันควร ทำได้ดั่งนี้แม้แต่จารชนชั้นเลิศก็มิสามารถหาข่าว แม่ทัพที่ฉลาดล้ำก็มิอาจวางแผนรับมือ เข้าสู่รูปแบบที่สามารถได้รับชัยชนะด้วยการใช้กำลังที่เหนือกว่า อย่าปล่อยให้กองกำลังฝ่ายข้าศึกได้ล่วงรู้ ให้เขาได้รู้ว่าเราอยู่ ณ ตำบลใดก็ต่อเมื่อรูปแบบของเราช่วยให้เราประสบความสำเร็จแล้ว อย่าให้ใครล่วงรู้ว่ารูปแบบของเราช่วยให้เราได้รับชัยชนะได้อย่างไร

จงรบให้ชนะอย่างเด็ดขาด อย่าให้ข้าศึกมีโอกาสได้โงหัวขึ้นมาอีก พึงจัดรูปแบบให้เหมาะสมกับรูปแบบของข้าศึก จัดรูปแบบการรบดุจดั่งน้ำ น้ำปรับตัวได้ตามภาชนะ น้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ การรบของเราก็ต้องปรับเปลี่ยนได้ดั่งน้ำ พึงหลีกเลี่ยงจุดแข็ง โจมตีจุดอ่อน น้ำย่อมปรับตัวไปตามพื้นที่ที่มันไหลผ่าน กองทัพของเราก็พึงปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับข้าศึก เพื่อชัยชนะเฉกเช่นกัน เริ่มสงครามด้วยรูปแบบที่ไม่แน่นอน เฉกเช่นน้ำที่ไม่มีรูปทรงแน่นอน หาปรับเปลี่ยนได้ตามที่ข้าศึกปรับและเปลี่ยน เราก็จะหาหนทางเอาชนะได้ เช่นนี้เรียกว่าทำตัวได้ดั่งเงา เข้าสู่ห้าสงครามโดยมีรูปแบบแห่งชัยชนะไม่เหมือนกัน แต่ละฤดูใช้รูปแบบที่ไม่เหมือนกัน วันเวลามีจำกัด ช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์สามารถตัดสินแพ้ชนะได้

15 ธันวาคม 2552

  • 22:54
เรื่องนี้น่าคิดดีนะครับ ผมนำมาเรียบเรียงใหม่ 
ใครเป็นต้นฉบับไม่รู้ ขอคารวะไว้ณ.ที่นี้


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  เศรษฐี ท่านหนึ่งรวยมาก และก็คิดว่าตนเองฉลาดมาก
วันหนึ่งขณะกำลังสั่งงานนั้น  ลูกน้องก็นำเสนอไอเดียบางอย่างขึ้นมา ด้วยความซื่อๆ
เจ้านายเศรษฐี ก็จี๊ดขึ้นมา เศรษฐีจึงด่าลูกน้อง ว่า...

“คิดโง่ๆแบบนี้ได้ไงเนี่ย เรื่องแค่นี้ เอาส้นเท้า  คิดก็คิดได้แล้ว” 

ลูกน้อง เมื่อได้ยิน งงๆ แต่ก็ไม่ได้โกรธอะไร และด้วยความซื่อ เขาก็เลยออกไป
แล้วคิดว่า

"จะทำไงหนอ ถึงจะเอาส้นเท้าคิดได้"
 
ในที่สุด เมื่อคิดไม่ออกเราควรปรึกษากัลยณมิตร ปรึกษาบัณฑิต ดังนั้น จึงไปกราบพระเถระที่วัด   
เมื่อเล่าเรื่องที่เศรษฐีให้ใช้ “ส้นเท้าคิด” ให้พระเถระฟัง ท่านก็อมยิ้ม และ สอนเรื่องปัญญาสามฐาน

ท่านสอนว่าปัญญาที่เกิดได้ที่ฐานกาย ฐานใจ และ ฐานคิด
เจ้าลองเดินแบบหยุดคิด(เลิกใช้สมองคิด)แต่ให้ เอาความรู้สึก ไปจับที่ความรู้สึกที่ส้นเท้า กระแทกพื้นแรงเบาหนัก ก็ตามรู้ ตามดู ที่ ส้นเท้า เดินไปกลับไปมา เดินจงกรม ฝึกหยุดคิด (ด้วยสมอง) ก็จะรู้เอง

ถ้ายังคิดด้วยสมองอยู่ก็จะไม่รู้ ด้วยความซื่อและศรัทธา
ลูกน้องคนนั้นก็เริ่มหัดเดินจงกรมแบบสิ้นคิด (ฐานสมอง)
   
วันหนึ่งเจ้านายเดินผ่านมาเห็นลูกน้องกำลังเดินกลับไปกลับมา ไม่รู้ว่านี่คือ จงกรม
ท่านก็ถามว่า “ของหายหรือไง เดินไปมาอยู่ได้ เจ้าคิดบ้าๆอะไรอยู่หรือ” 
ลูกน้องก็ตอบว่า  “กำลังใช้ส้นเท้าคิดครับนาย” 
เจ้านายพอได้ยิน รีบใช้ปัญญาฐานคิดเฉโกทันที จึงโกรธจัด นึกว่า ลูกน้องลองดี
ทะลึ่งมาใช้คำด่าว่า “ส้นเท้า” ก็เลยสั่งขับไล่ออกจากบ้านไป

ลูกน้อง ก็เลย ไปทำงานอยู่ที่วัดของท่านพระเถระ และ ก็ฝึกๆๆ   ใช้ปัญญาฐานกาย
ด้วยการทำซ้ำๆๆๆๆ โดยไม่คิดมาก จนในที่สุดเกิดความรู้ (สติ) ที่ส้นเท้า จากส้นเท้าก็ ขยายไปรู้ (มีสติ)ไปยังอวัยวะอื่นๆของร่างกาย จนทั่วทั้งกาย รู้ที่ลมหายใจ รู้ทุกๆอิริยาบท นั่ง เดิน ยืน นอน เดินจงกรมหรือไม่เดินจงกรมก็ได้ทั้งนั้น
  • เขาฝึกๆๆๆ ซ้ำๆๆๆ ไม่ใช้สมองคิดมาก  ตัดความคิดบ้าๆออกไปมุ่งเน้นอารมณ์เดียว อยู่ที่ตัวรู้ ที่ฐานกาย จากฐานกายเขาก็พัฒนาขึ้นไปค้นพบ ตัวรู้ที่ฐานใจได้ไม่ยากรู้ว่ากายเป็นตัวฟ้องให้เรารู้ว่าจิตเป็นอย่างไร  เมื่อฝึกๆ จนรู้เท่าทัน ฐานใจ ฐานกาย รู้ว่าหากกายใจไม่ปกติ ความคิดต่างๆเป็นเฉโก ดังนั้น  ไม่ต้องคิดด้วยฐานสมอง ย้อนลงมาสร้างตัวรู้ ที่ฐานกาย ฐานใจ
ในที่สุดก็ปิ๊ง  ได้ปัญญาฐานคิดที่แท้จริง คือ คิดเมื่อจิตว่างซึ่งการที่เราจะรู้ว่าจิตว่างหรือไม่ ก็ให้ดู (มีสติ)ที่ร่างกาย ฝึกจนตัวรู้(สติ) จากน้อยๆในที่สุด เป็นสติมากๆ  เป็นมหาสติ   สติติดเนื้อติดตัวอย่าง เป็นอัตโนมัติ  ในที่สุด หลายปีผ่านไป  ท่านได้เป็นพระเถระ ที่มีชื่อเสียง  และยังนึกขอบคุณเสมอว่า  คิดด้วยส้นเท้านี่ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจังหนอ

วันหนึ่ง เศรษฐีทำธุรกิจผิดพลาด เครียดจัด จึงมาที่วัดแห่งนี้ มาเจอพระเถระ แต่ เศรษฐีก็จำไม่ได้ว่าเคยทำงานที่บ้านท่านมาก่อน   
ท่านก็ถามว่า จะแก้ปัญหา อย่างไรดีพระเถระ  ก็ตอบว่า
“เรื่องง่ายๆแค่นี้  ลองเอาส้นเท้าคิดดูสิ”

นิทานเรื่องนี้สอนให้เรารู้อะไรบ้าง  รู้สึกอย่างไรบ้าง  และ สติอยู่ที่ไหน
เราโดนฝึกมาให้ คิดก่อนพูด   แต่จริงๆแล้วควรจะเป็น  มีสติ ดูกาย ดูใจ ว่าปกติไหม แล้วค่อยคิด ค่อยพูด   พวกเราโดนสั่งสอน ให้เริ่ม จาก เฉโก ก่อนเสมอ  จึงได้ทะเลาะกันเรื่อยๆ  เรื่องน่ารัก เล็กๆน้อยๆ  ก็งอนกันได้ ลองดูนะ

ใช้ “ส้นเท้า” คิดดูบ้าง

13 ธันวาคม 2552

  • 16:14
คราวนี้เขาหยิบน้ำอัดลมสองกระป๋องออกมาจากใต้โต๊ะแล้วเทใส่เหยือกโดยไม่รีรอ
ไม่นานน้ำอัดลมก็ซึมผ่านทรายลงไปจนหมด
ทั้งชั้นเรียนหัวเราะฮือฮากันยกใหญ่

เขาหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
"ไหนพวกคุณบอกว่าเหยือกเต็มแน่ๆ ไง" เขาพูดพลางยกเหยือกขึ้น
"ผมอยากให้พวกคุณจำบทเรียนวันนี้ไว้ เหยือกใบนี้ก็เหมือนชีวิตคนเรา
ลูกเทนนิสเปรียบเหมือนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต เช่น ครอบครัว คู่ชีวิต
การเรียน สุขภาพ ลูก พ่อแม่และเพื่อน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คุณต้องสนใจจริงจัง
สูญเสียไปไม่ได้
เม็ดกรวดเหมือนสิ่งสำคัญรองลงมา เช่น งาน บ้าน รถยนต์
ทรายก็คือเรื่องอื่นๆ ที่เหลือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราจำเป็นต้องทำ
แต่เรามักจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้
เหยือกนี้เปรียบกับชีวิตของคุณ ถ้าคุณใส่ทรายลงไปก่อน
คุณจะมัวหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเล็กๆน้อยๆ อยู่ตลอดเวลา
ชีวิตเต็มแล้ว... เต็มจนไม่มีที่เหลือให้ใส่กรวด
ไม่มีที่เหลือใส่ให้ลูกเทนนิสแน่นอน'
ชีวิตของคนเราทุกคน ถ้าเราใช้เวลาและปล่อยให้เวลาหมดไปกับเรื่องเล็กๆ
น้อยๆ เราจะไม่มีที่ว่างในชีวิตไว้สำหรับเรื่องสำคัญกว่า
เพราะฉะนั้นในแต่ละวันของชีวิต
เราต้องให้ความสนใจกับเรื่องที่ทำให้ตัวเราและครอบครัวมีความสุข

ใช้ชีวิตเล่นกับลูกๆ หาเวลาไปตรวจร่างกาย
พาคู่ชีวิตกับลูกไปพักผ่อนในวันหยุด พากันออกกำลังกาย
เล่นกีฬาร่วมกันสักชั่วโมงสองชั่วโมง เพื่อสุขภาพและความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิต
พาพ่อแม่ไปเที่ยวพักผ่อนหรือทานข้าว โทรศัพท์หาเพื่อนบ้างให้รู้ว่าเรายังคิดถึงและเป็นห่วง
เราต้องดูแลเรื่องที่สำคัญที่สุดจริงๆ ดูแลลูกเทนนิสของเราก่อนเรื่องอื่นทั้งหมด
หลังจากนั้นถ้ามีเวลาเหลือเราจึงเอามาสนใจกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา"

นักศึกษาคนหนึ่งยกมือขึ้นถาม
แล้วน้ำที่อาจารย์เทใส่ลงไปล่ะครับหมายถึงอะไร?"
เขายิ้มพร้อมกับบอกว่า

"การที่ใส่น้ำลงไปเพราะอยากให้เห็นว่า
ไม่ว่าชีวิตของเราจะวุ่นวายสับสนเพียงใด
ในความสับสนและวุ่นวายเหล่านั้นคุณยังมีที่ว่างสำหรับการแบ่งปันน้ำใจให้กันเสมอ..."


แล้วเหยือกของคุณล่ะเต็มหรือยัง

11 ธันวาคม 2552

  • 21:09
ชายหนุ่มคนหนึ่งได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเอกชน
เพื่อให้เป็นวิทยากรพิเศษสอนวิชาปรัชญาให้กับนักศึกษาปริญญาโท
เขาเตรียมการสอนอยู่หลายวันจึงตัดสินใจจะสอนนักศึกษาเหล่านั้นด้วยแบบฝึกหัดง่ายๆ
แต่แฝงไว้ด้วยข้อคิด

เขาเดินเข้าห้องเรียนมาพร้อมด้วยของสองสามอย่างบรรจุอยู่ในกระเป๋าคู่ใจ

เมื่อได้เวลาเรียน เขาหยิบ
เหยือกแก้วขนาดใหญ่ขึ้นมา แล้วใส่
ลูกเทนนิสลงไปจนเต็ม

"พวกคุณคิดว่าเหยือกเต็มหรือยัง?" เขาหันไปถามนักศึกษาปริญญาโท

แต่ละคนมีสีหน้าตาครุ่นคิดว่าอาจารย์หนุ่มคนนี้จะมาไม้ไหนก่อนจะตอบพร้อมกัน

"เต็มแล้ว..."

เขายิ้มไม่พูดอะไรต่อหันไปเปิดกระเป๋าเอกสารคู่ใจ
หยิบกระป๋องใส่กรวดออกมา แล้วเทกรวดเม็ดเล็กๆจำนวนมากลงไปในเหยือกพร้อมกับเขย่าเหยือกเบาๆกรวดเลื่อนไหลลงไปอยู่ระหว่างลูกเทนนิสอัดจนแน่นเหยือก เขาหันไปถามนักศึกษาอีก
"เหยือกเต็มหรือยัง?"

นักศึกษามองดูอยู่พักหนึ่งก่อนจะหันมาตอบ

"เต็มแล้ว..."


เขายังยิ้มเช่นเดิม หันไปเปิดกระเป๋าหยิบเอาถุงทรายใบย่อมขึ้นมา
และเททรายจำนวนไม่น้อยใส่ลงไปในเหยือก

เม็ดทรายไหลลงไปตามช่องว่างระหว่างกรวดกับลูกเทนนิสได้อย่างง่ายดาย

เขาเทจนทรายหมดถุง
เขย่าเหยือกจนเม็ดทรายอัดแน่นจนแทบล้นเหยือก

เขาหันไปถามนักศึกษาอีกครั้ง

"เหยือกเต็มหรือยัง?"

เพื่อป้องกันการหน้าแตกนักศึกษาปริญญาโทเหล่านั้นหันมามองหน้ากัน
ปรึกษากันอยู่นาน

หลายคนเดินก้าวเข้ามาก้มๆ เงยๆ
มองเหยือกตรงหน้าอาจารย์หนุ่มอยู่หลายครั้ง
มีการปรึกษาหารือกันเสียงดังไปทั้งห้องเรียน จวบจนเวลาผ่านไปเกือบห้านาที
หัวหน้ากลุ่มนักศึกษาจึงเป็นตัวแทน เดินเข้ามาตอบอย่างหนักแน่น

"คราวนี้เต็มแน่นอนครับอาจารย์"

"แน่ใจนะ"

"แน่ซะยิ่งกว่าแน่อีกครับ"

05 ธันวาคม 2552

  • 14:07

การสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอให้ริเริ่มการสร้างขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสานต่อความคิดและเชื่อมโยงการขยายผลที่เกิดจาการนำหลักปรัชญาฯ ไปใช้อย่างหลากหลาย รวมทั้งเพื่อจุดประกายให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับ และการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติในทุกภาคส่วนของสังคมอย่างจริงจัง

จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ นับตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา จะพบว่าพระองค์ท่านได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ความพอมีพอกิน พอมีพอใช้ การรู้จักความพอประมาณ การคำนึงถึงความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว และทรงเตือนสติประชาชนคนไทยไม่ให้ประมาท ตระหนักถึงการพัฒนาตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตลอดจนมีคุณธรรมเป็นกรอบในการดำรงชีวิตซึ่งทั้งหมดนี้เป็นที่รู้กันภายใต้ชื่อว่า เศรษฐกิจพอเพียง
สศช. จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่าง ๆ มาร่วมกันกลั่นกรองพระราชดำรัสฯ สรุปเป็นนิยาม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และได้อัญเชิญมาเป็นปรัชญานำทางในการจัดทำ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับมีความเข้าใจและนำไปประกอบการดำเนินชีวิต
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างเครือข่ายเรียนรู้ ให้มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นกรอบความคิด เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยในทุกภาคส่วน
วัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนทึกคนสามารถนำหลักปรัชญาฯ ไปประยุกต์ให้ได้อย่างเหมาะสม และปลูกฝังปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการดำรงชีวิตให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง
ตลอดจนนำไปสู่การปรับแนวทางการพัฒนาให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการเสริมพลังให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งรักษาความสมดุลของทุนและทรัพยากรในมิติต่าง ๆ ตลอดจนสามารถปรับตัวพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างเท่าทัน และนำไปสู่ความเอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนชาวไทย
การขับเคลื่อนจะเป็นลักษณะเครือข่ายและระดมพลังจากทุกภาคส่วน แบ่งเป็น 2 เครือข่ายสนับสนุนตามกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น ได้แก่
• เครือข่ายด้านประชาสังคมและชุมชน
• เครือข่ายธุรกิจเอกชน
นอกจากนี้แล้วยังมีเครือข่ายสนับสนุนตามภารกิจ ได้แก่
• เครือข่ายวิชาการ
• เครือข่ายสร้างกระบวนการเรียนรู้
• เครือข่ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้แกนกลางขับเคลื่อนมี 3 ระดับได้แก่ คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และกลุ่มงานเศรษฐกิจพอเพียงใน สศช. ซึ่งจะเป็นหน่วยปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนและจะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลการดำเนินงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ครบรอบ 80 พรรษา ในเดือนธันวาคม 2550

ข้อมูลจาก
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • 14:05
เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของ ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี
เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ในขณะที่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม
ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ได้ดั้งนี้
ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่น ๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว
อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม
ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการที่ธุรกิจต่าง ๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ
กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่าง ๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้น ๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง
ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น
การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่อันประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงกลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลัก ไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด
  • 14:04
หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง
การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
มีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน ดังนี้
• กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สมารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤต เพื่อ ความมั่นคง และ ความยั่งยืน ของการพัฒนา
• คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
• คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อม ๆ กัน ดังนี้
• ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
• ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
• การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
• เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
• เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
• เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
• แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี
  • 13:48
เศรษฐกิจพอเพียง

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานในวโรกาสต่าง ๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาขนโดยทั่วไป



Sufficiency Economy
“Sufficiency Economy” is a philosophy bestowed by His Majesty the King to his subjects through royal remarks on many occasions over the past three decades. The philosophy provides guidance on appropriate conduct covering numerous aspects of life. After the economic crisis in 1997, His Majesty reiterated and expanded on the “Sufficiency Economy” in remarks made in December 1997 and 1998. The philosophy points the way for recovery that will lead to a more resilient and sustainable economy, better able to meet the challenges arising from globalization and other changes.

Philosophy of the “Sufficiency Economy”
“Sufficiency Economy” is a philosophy that stresses the middle path as an overriding principle for appropriate conduct by the populace at all levels. This applies to conduct starting from the level of the families, communities, as well as the level of nation in development and administration so as to modernize in line with the forces of globalization. “Sufficiency” means moderation, reasonableness, and the need of self-immunity for sufficient protection from impact arising from internal and external changes. To achieve this, an application of knowledge with due consideration and prudence is essential. In particular great care is needed in the utilization of theories and methodologies for planning and implementation in every step. At the same time, it is essential to strengthen the moral fibre of the nation, so that everyone, particularly public officials, academics, businessmen at all bevels, adheres first and foremost to the principles of honesty and integrity. In addition, a way of life based on patience, perseverance, diligence, wisdom and prudence is indispensable to create balance and be able to cope appropriately with critical challenges arising from extensive and rapid socioeconomic, environmental, and cultural changes in the world.”
Unofficial translation. A working definition compiled from remarks made by His Majesty the King on various occasions and approved by His Majesty and sent by His Majesty's principal Private Secretary to the NESDB on November 29,1999

04 ธันวาคม 2552

  • 23:56
พลานุภาพ
ซุนวูกล่าวว่า “ควบคุมคนกลุ่มใหญ่ได้เหมือนควบคุมคนกลุ่มน้อย” ด้วยการแบ่งตำแหน่งแบ่งยศศักดิ์ให้ถูกต้อง
ต่อสู้กับกองทัพใหญ่เหมือนเช่นที่ต่อสู้กับคนกลุ่มเล็ก ที่ต้องการมีเพียงการวางตำแหน่งในการวางกำลังและการสื่อสารที่เหมาะสม

หากพบกองทัพข้าศึกขนาดใหญ่ ต้องต้านทานการต่อตีของข้าศึกให้ได้โดยไม่เพลี่ยงพล้ำ
ต้องใช้ทั้งความประหลาดใจและการโจมตีตรงหน้าได้อย่างเหมาะสม ตำแหน่งของกองทัพต้องช่วยเพิ่มเสริมความเข้มแข็งได้
กองทหารที่โอบตีข้าศึกสามารถบดขยี้พวกเขาได้ดุจไข่ไก่ ต้องใช้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของเราได้อย่างถูกต้องด้วยจึงดี

ทุกสงครามเป็นเช่นนี้
เราใช้การเข้าตีตรงหน้าเพื่อตรึงกำลังข้าศึก
ใช้ความเหนือคาดช่วยให้ชนะ

ใช้ความเหนือคาดช่วยให้ทำการบุกได้สำเร็จ เหนือคาดอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนอากาศและพื้นดิน เหนือคาดอย่างไม่ขาดตอนเหมือนกระแสน้ำในแม่น้ำ อาจถูกหยุดยั้งแต่ยังสามารถกลับมาเริ่มใหม่ ต้องใช้วันและเดือนให้เหมาะสม หากเพลี่ยงพล้ำต้องฟื้นฟู ต้องใช้ฤดูทั้งสี่ให้เหมาะสม เสียงเพลงมีอยู่เพียงไม่กี่เสียงหากว่าเราปรับแต่งมัน จะได้บทเพลงแห่งชัยชนะมากมาย ฟังได้ไม่รู้จบ สีมีอยู่เพียงไม่กี่สีหากว่าผสมมัน จักได้สีสันแห่งชัยชนะมากมาย ให้ดูได้ไม่รู้จบ รสมีอยู่เพียงไม่กี่รส แต่เรายังสามารถผสมมัน จนได้รสชาติแห่งชัยชนะมากมาย ให้ลิ้มได้ไม่รู้จบ

จงรบด้วยพลานุภาพ รูปแบบการรบมีเพียงสามัญและพิสดาร สามัญและพิสดารพลิกผันมิรู้จบ ชัยชนะก็มิอาจจำกัดให้จบสิ้นได้เช่นกัน สามัญและพิสดารให้กำเนิดซึ่งกันและกัน เหมือนเป็นวงกลมที่มิมีจุดเริ่มต้นหรือสิ้นสุด ย่อมสอดประสานผสมปนเปกันได้ไม่รู้สิ้น “กระแสน้ำไหลเชี่ยวแรงพลังกวาดหินจนลอยเคลื่อน นี้คือพลานุภาพ เหยี่ยวโฉบนก เพียงแรงปะทะก็ฆ่าเหยื่อได้ นี้คือจังหวะเวลาที่เหมาะสม เข้ารบเฉพาะในสงครามที่ชนะ ใช้พลานุภาพที่ทรงพลัง ใช้จังหวะเวลาที่แม่นยำ” พลานุภาพเปรียบเสมือนความตึงของสายเกาทัณฑ์ จังหวะเวลาเหมือนการเหนี่ยวไก
สงครามทั้งซับซ้อนและยุ่งเหยิง การรบยิ่งอลหม่านแต่เราต้องไม่สับสน สงครามเลอะเทอะและยุ่งเหยิง ตำแหน่งอาจพลิกผัน แต่ทว่าเราจะต้องไม่ยอมแพ้ ความยุ่งเหยิงก่อให้เกิดการควบคุม กลัวก่อให้เกิดกล้าหาญ ความอ่อนแอเป็นบ่อเกิดของความแข็งแรง พึงควบคุมความสับสนอลหม่าน ทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการวางแผน

คนของเราต้องใช้ความกล้าพิชิตความกลัว ทำได้หรือไม่ขื้นอยู่กับพลานุภาพ เรามีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง นี้เป็นเพราะตำแหน่งที่ตั้งของเรา จงบีบข้าศึกให้เคลื่อนไหวไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเรา ใช้ตำแหน่งที่ตั้งของเรา ข้าศึกจะต้องติดตามเรา จงละทิ้งที่ตั้ง ข้าศึกจะต้องเข้ายึดที่นั้น เราสามารถใช้ผลประโยชน์ล่อให้ข้าศึกเคลื่อนไหว เราสามารถใช้คนของเราทำให้ข้าศึกเคลื่อนไหว เราสามารถใช้กำลังตรึงข้าศึกเอาไว้ เราต้องการประสบชัยชนะในการรบ ซึ่งทำได้ด้วยการแสวงหาพลานุภาพ อย่าเพียงแต่เรียกร้องให้คนของเราต่อสู้ให้ถึงที่สุด เราต้องเลือกคนให้ดี แล้วให้พลานุภาพแก่พวกเขา

เราต้องสร้างพลานุภาพ พลานุภาพสร้างได้ด้วยผู้คนของเราระหว่างสงคราม เปรียบเสมือนการกลิ้งท่อนซุงและก้อนหิน ท่อนซุงและก้อนหินกลิ้งได้เพราะรูปร่างและน้ำหนักของพวกมัน ให้ความปลอดภัยแก่ผู้คนแล้วพวกเขาจะสงบ ให้อันตรายแล้วพวกเขาจะต้องดื้นรนกระทำการ ให้ที่มั่นแก่พวกเขาแล้วพวกเขาจะรักษามันไว้ รวบรวมพวกเขาแล้วพวกเขาจะออกเดิน เราทำให้คนของเราทรงความน่าเกรงขามได้ด้วยพลานุภาพ ก็เหมือนการกลิ้งก้อนหินกลมลงมาจากหน้าผาที่สูงชันนั่นเอง พลานุภาพสำคัญอย่างยิ่ง

03 ธันวาคม 2552

  • 22:02
"ตกขาว" ภัยเงียบของผู้หญิง/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

บทความนี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อสุภาพสตรีทุกท่าน จึงส่งต่อมาเพื่อเป็นวิทยาทาน
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านไม่มากก็น้อยนะครับ เพื่อเป็นบุญต่อผู้ที่ส่งมาให้ผมได้รับสืบไป

รูปที่ 1 โรคมรณะอย่างมะเร็งปากมดลูกอาจนำมาด้วยอาการเพียง 'ตกขาว' หรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอยเท่านั้น

รูปที่ 2 ก้อนเนื้อมะเร็งปากมดลูกของจริงที่ถูกตัดออกมาพร้อมปากมดลูก

แน่ใจหรือว่าเป็นตกขาวปกติ?
ที่ผมเรียกตกขาวว่าเป็น 'ภัยเงียบ' ก็จากสาเหตุที่จะกล่าวต่อไปนี้ โดยจากประสบการณ์ที่ผมตรวจคนไข้มานั้นจะสังเกตว่าถ้าเป็นคนไข้สาวๆที่มีตกขาวมักจะรอนานจนเป็นหนักจึงมาตรวจ เพราะในสมองจะคิดหาข้ออ้างไว้ประการหนึ่งคือ

'คงเป็นตกขาวปกติ ไม่มีอะไรหรอก'


ที่กล่าวว่าเป็นการอ้างก็เพราะเป็นธรรมดาของหญิงไทยที่มักจะขี้อาย เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้บ้าง ไม่เหมือนบ้าง แต่ก็มักจะอายกันเป็นส่วนใหญ่ ผิดกับเด็กหญิงอเมริกันที่เริ่มตรวจภายในกันตั้งแต่วัยทีนเอจ แต่ก็เป็นข้อดีไม่น้อยเพราะทำให้อัตราการตายจากโรคมะเร็งปากมดลูกไม่สูงเท่าในคนไทยเรา เพราะเมื่อตรวจภายในได้ส่องเข้าไปดูถึงปากมดลูก ถ้าเห็นติ่งเห็นก้อนอะไรผิดปกติก็สามารถตัดและแก้ได้ทันตั้งแต่เนิ่นๆ มะเร็งยังไม่ทันลามไปต่อมน้ำเหลืองก็สกัดได้ทันก่อน พอมาเห็นคุณย่าคุณยายบ้านเราที่กว่าจะตรวจพบมะเร็งก็ 'สายเสียแล้ว' ถึงรู้สึกเสียใจและเสียดายมากๆทีเดียวครับ

สิทธิการิยะ ท่านว่าลักษณาการของตกขาวปกตินั้นประกอบด้วย เมือกสีขาวนวลคล้ายแป้งเปียก โดยมากมักไม่มีกลิ่นหรือในบางคนอาจมีอมเปรี้ยวได้บ้างเล็กน้อย(หมายถึงกลิ่นนะครับ ส่วนรสเปรี้ยวคงไม่มีใครไปชิมให้)ด้วยฤทธิ์ของแบคทีเรียสร้างกรดตัวหนึ่งชื่อ 'แลกโตบาซิลลัส' ที่สร้างกรดแลกติกออกมา ตกขาวปกตินี้เรียกอีกอย่างว่าตกขาวตามธรรมชาติมีไว้เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้ามารอนราญช่องช่องคลอด มักจะมีออกมามากในสี่ช่วงเวลาชีวิตสาวๆ ดังนี้

1) ก่อนมีประจำเดือน
2) หลังมีประจำเดือน
3) ช่วงไข่ตก
4) ระหว่างตั้งครรภ์

แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับพื้นเพเดิมด้วยว่าเราเคยมีตกขาวเยอะเพียงใด ถ้าเคยมีเพียงน้อยนิดแล้วจู่ๆก็มีมากขึ้นจน 'ติดกางเกงใน' อย่างนี้แม้จะดูเหมือนเป็นตกขาวธรรมชาติก็ต้องเอะใจสักหน่อยแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นต้นว่า 'ท้องหรือเปล่า?' หรือถ้าเป็นแป้งเปียกมากเสียจนเหมือนลิ่มนมที่เด็กอาเจียนออกมา นั่นคือติดเชื้อรากลุ่มยีสต์หรือแคนดิดาแล้วครับ เพราะเชื้อรากลุ่ม 'น้องดา' นี้ก็มักจะชอบที่อับๆ ชื้นๆ เช่นในช่องคลอด ยิ่งใครชอบใส่ชุดว่ายน้ำรัดๆไปว่ายน้ำ หรือใส่ผ้าอนามัยอับสักหน่อยล่ะก็เหล่าน้องดาจะเจริญงอกงามอลังการทีเดียวแต่ไม่ถึงงอกเป็นเห็ดหรอกครับ แค่สร้างสปอร์เพื่อขยายเผ่าพันธุ์เพิ่มเท่านั้นแหละครับ โดยวิธีป้องกันตกขาวปกติไม่ให้กลายไปเป็นติดเชื้อน้องดาหรือแคนดิดานี้ก็มีเคล็ดวิธีง่ายๆ ที่ผม(ให้ผู้ป่วย)ใช้แล้วได้ผลดี คือ

1) ถ้ามีตกขาวพยายามอย่า สวนล้างบ่อย หรือใช้น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นบ่อยจนเกินไป สาวๆหลายท่านมักบอกว่าที่ต้องใช้บ่อยเพราะ 'ไม่มั่นใจ' แต่ขอให้มั่นใจเถิดครับว่าการมีตกขาวนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้ามันสะอาดมากเกินไปเสียก็เท่ากับว่ากรุยทางให้เชื้อร้ายบุกเข้าสู่ภายในมดลูกได้ง่ายขึ้น

2) อย่าฉีดล้างภายในช่องคลอด บางคนสูญเสียความมั่นใจขนาดหนักเมื่อมีตกขาว ล้างด้วยน้ำยายังไม่พอ ขอฉีดซู่ซ่าเข้าไปข้างในให้สะอาดสะใจ เรียกว่าถ้าล้วงมดลูกออกมาล้างได้ก็คงทำไปแล้ว ขอเถิดครับอย่าทำเลย ค่อยๆ ใช้น้ำสะอาดนี่แหละครับล้างเบาๆ ก็พอ เพราะยิ่งคุณฉีดน้ำจากหัวฉีดหรืออะไรก็แล้วแต่เข้าไปจะยิ่งดันให้เชื้อจากในช่องคลอดวกกลับเข้าไปข้างใน และท่อปัสสาวะซึ่งอยู่เหนือช่องคลอดก็จะพลอยได้รับเชื้อไปด้วย สังเกตง่ายๆ เลยว่าเวลาช่องคลอดอักเสบมักพาให้เกิดท่อปัสสาวะอักเสบ ฉี่บ่อยๆ ฉี่ขัดๆ ไปด้วย ก็ด้วยเหตุที่กล่าวไปฉะนี้แล

3) อย่าใช้กางเกงในอับๆหรือชื้นๆ ฟังดีๆนะครับนี่คือเคล็ดวิชาสุดยอดเลย ให้เอากางเกงในตากแดด ห้ามตากพัดลมจนแห้งนะครับ ด้วยเหตุที่ว่าแสงยูวีจากแดดจะช่วยทำลายสปอร์เชื้อราได้ดีกว่ามาก



รูปที่ 3 ตกขาวแบบ 'เชื้อรา' จะมีลักษณะเป็นก้อนแบบลิ่มนมในปากเด็ก


รูปที่ 4 เมื่อนำก้อนรามาย้อมแล้วส่องกล้องจุลทรรศน์จะพบเชื้อราเป็นสายพร้อมกับสปอร์ที่กำลังแบ่งตัว



ตกขาวหนอง!

ตกขาวในกรณีนี้จะไม่ค่อยขาวสนิทสวยงามเสียทีเดียวมักเป็นตกขาวปนเหลืองหรือเขียว และมีกลิ่น 'อับ' แบบพิเศษที่ถ้าใครเคยได้กลิ่นสักครั้งจะจำได้ดี เพราะกลิ่นอันไม่โสภานี้เกิดจากการ 'หมัก' ของแบคทีเรียบางชนิดในช่องคลอด และในบางคราวมีเชื้อปรสิตจำพวกพยาธิปนอยู่ด้วยซึ่งจะทำให้ตกขาวเป็นฟองและคันยุบยิบ ถ้าสรุปเป็นข้อง่ายๆก็คือ

1) ถ้าตกขาวปนเขียวหรือปนเหลือง มีกลิ่นอับ มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อหนองในแท้ หนองในเทียมหรือคลามัยเดีย(Chlamydia) ก็จัดเป็นผู้ร้ายในกลุ่มนี้ด้วย

2) ถ้าตกขาวเป็นน้ำไหลโจ๊กหรือเป็นฟอง มักเกิดจากเชื้อปรสิตพยาธิ พวกทริโคโมแนส หรือเรียกสั้นๆว่า 'ทีวี(TV)' ซึ่งคนละเรื่องกับโทรทัศน์



รูปที่ 5 เชื้อแบคทีเรียนานาพันธ์ที่อยู่ในช่องคลอดราวกับสวนสัตว์นี้ ทำให้เกิดภาวะช่องคลอดติดเชื้อได้



รูปที่ 6 เชื้อพยาธิทริโคโมแนสในช่องคลอดทำให้เกิดตกขาวผิดปกติแบบเป็นฟองและคัน

รูปที่ 7 ตกขาวสีเหลืองหรือเขียวร่วมกับมีกลิ่นผิดปกติเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อภายใน

ตกขาวที่ผิดปกตินี้มักร่วมกับอาการเจ็บป่วยของอวัยวะใกล้เคียงด้วยได้แก่ มีแผลริมอ่อน,บริเวณปากช่องคลอด, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, อุ้งเชิงกรานอักเสบ และถ้าในรายที่เป็นรุนแรงจะลามไปถึงปีกมดลูกทั้งสองข้างกลายเป็นกระเปาะหนองหรือฝีป่องอยู่ข้างในเรียกย่อๆว่า 'ทีโอเอ(TOA,Tuboovarian abscess)' ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับชื่อสีทาบ้านใครทั้งสิ้น

ถ้าท่านใดสงสัยว่าจะเป็นนะครับให้ลองสังเกตดูบางทีจะมีตัวรุมๆหรือเหมือนมีไข้ต่ำๆร่วมด้วย เพราะว่ามันคือการติดเชื้อน่ะครับ ลองนึกดูว่าขนาดเรามีฝีข้างนอกยังจับไข้เลย แล้วนี่ดันมีฝีทั้งก้อนอาศัยอยู่ในเรือนกายมันย่อมทำให้ 'ร้อนใน' รู้สึกไม่สบายเนื้อตัวแน่ๆ เวลาที่เจอคนไข้ที่สงสัยว่าจะเป็นเช่นนี้ผมมักจับทำอัลตร้าซาวน์ดูทุกคน เพราะเป็นวิธีง่ายๆ ที่แค่จรดหัวอัลตร้าซาวน์ลงไปคุณก็อาจจ๊ะเอ๋กับก้อนฝีนานาพันธุ์แล้วครับ เท่าที่เคยเจอมามีตั้งแต่ขนาดเท่าลูกบอลย่อมๆ ไปจนถึงเกาะกันเป็นพวงหนองคล้ายพวงองุ่น เห็นแล้วน่ากิน เอ้ย น่าขนลุกใช่เล่น

รูปที่ 8 ก้อนฝีอักเสบรุนแรงที่ปีกมดลูกมีลักษณะเป็นกลุ่มคล้ายพวงองุ่น



ดูแล 'กันและกัน' ให้ดีจะไม่มีภัยเงียบจากตกขาว
ที่ไม่บอกให้ดูแลแต่ 'ตัวเอง' นั่นก็เพราะส่วนใหญ่ตกขาวในสตรีวัยเจริญพันธุ์นั้นมักเกิดจากเพศสัมพันธ์ ซึ่งฟังดูเหมือนเป็นโรคน่ารังเกียจ เกิดจากคู่นอนสำส่อนอะไรเทือกนั้น แต่ขอให้ใจเย็นๆครับ ฟังทางนี้ก่อน อย่าเพิ่งด่วนไปทะเลาะชวนตีให้ชุลมุนกัน เพราะการเกิดตกขาวใช่ว่าจะเกิดจากฝ่ายชายนอกใจไปมีอะไรกับกิ๊กเสมอไป ในหลายคราวที่เพศสัมพันธ์ไม่สะอาดหรือรุนแรงก็อาจทำให้เกิดรอยแผลฉีกขาดเล็กๆ ในช่องคลอดซึ่งเราไม่ทราบ

แล้วเมื่อประกอบกับพฤติกรรมทำร้ายช่องคลอดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จำพวก ใช้น้ำยาล้างภายในอย่างดุเดือด แถมด้วยฉีดน้ำเข้าไปชำระแบบถึงลูกถึงคนอีก ก็ยิ่งทำให้เชื้อลามเข้าไปติดข้างในง่ายขึ้น หรือบางท่านไปเที่ยวทะเล ใส่ชุดว่ายน้ำลงเล่นน้ำจนเพลินเดินขึ้นมากินส้มตำจนชุดแห้งแล้วก็ลงไปเล่นอีก อย่างนี้ก็จะนำไปสู่การได้เชื้อราแถมตอนกลับบ้านด้วยเช่นกัน

รูปที่ 9 การสอดอุปกรณ์เข้าไปสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดตกขาวเรื้อรังและนำเชื้อเข้าสู่มดลูก

นอกจากนั้นคำถามยอดฮิตที่คนไข้ชอบถามอีกอย่างคือ ตกขาวแล้วกินอะไรไม่ได้บ้าง ถ้าให้ผมแนะก็คือไม่อยากให้กินของหมักของดองและพวกอาหารทะเลครับ ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่จากการสังเกตก็พบว่าบางท่านพอทานไปแล้วยิ่งตกขาวหนักขึ้นได้ อาจเนื่องมาจากสารกลุ่มไนโตรซามีน(Nitrosamine) ที่มีมากในโปรตีนเนื้อสัตว์ ซึ่งสารตัวนี้ถือเป็นสารก่อมะเร็งที่สำคัญตัวหนึ่งที่จะฟอร์มตัวได้ดีถ้าอยู่ในภาวะที่เป็นกรดเช่นในกระเพาะอาหารมนุษย์

แต่อย่าลืมว่าช่องคลอดคนเราก็เป็นกรดเหมือนกันนะครับจากแบคทีเรียแลคโตแบซิลลัสที่ผมได้กล่าวไป บางทีถ้าร่างกายได้รับโปรตีนมากๆมันก็กลายสภาพเป็นกรดอะมิโนเข้ากระแสเลือดไปตามที่ต่างๆได้เหมือนกัน ดังนั้นก็ขอฝากหัวใจสำคัญเรื่องตกขาวทิ้งท้ายไว้ว่า

1) ถ้ามีตกขาวก็อย่าลืมสังเกตว่ามันเป็นตกขาวธรรมชาติหรือไม่
2) ถ้าไม่ใช่ก็ให้รีบจรลีไปพบแพทย์ก็อย่าลืมพาคู่รักไปตรวจด้วยนะครับ เพราะเขาก็อาจมีเชื้อได้เหมือนกัน (หรือเขาเองนั่นแหละเอาเชื้อมาให้เรา)
3) อย่าทนรอให้เป็นตกขาวนานๆแล้วค่อยเยื้องกรายมาตรวจนะครับ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณมรณะของเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกก็เป็นได้

เห็นไหมครับ ง่ายๆเพียงเท่านี้ ลองเป็นหมอให้ตัวคุณเองดูก่อนจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลังเพราะเจอพิษร้ายจาก 'ภัยเงียบ' เล่นงานเอา

  • 21:09
การวางกำลั

ซุนวูกล่าวว่า จงเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของการรบที่ประสบความสำเร็จ
สิ่งแรกคือ ต้องหาทางไม่ให้ข้าศึกได้รับชัยชนะ ต้องใส่ใจในข้าศึกเพื่อหาหนทางเอาชนะข้าศึก มีแต่เราเท่านั้นที่จะสามารถป้องกันไม่ให้ข้าศึกได้รับชัยชนะ และมีแต่ข้าศึกเท่านั้นที่จะยอมให้เราชนะได้ ต้องรบให้ดี ต้องป้องกันไม่ให้ข้าศึกได้รับชัยชนะ เราจะไม่สามารถได้รับชัยชนะ นอกจากข้าศึกจะอำนวยให้ชนะ

เป็นที่กล่าวกันว่า เราสามารถมองเห็นโอกาสสำหรับชัยชนะได้ แต่สร้างมันขึ้นมาเองไม่ได้ บางครั้งเราไม่สามารถชนะจึงต้องตั้งรับ แต่ในที่สุดแล้วจะสามารถชนะได้ เมื่อถึงเวลาแล้วให้โจมตี ตั้งรับเมื่อมีกำลังไม่พอ โจมตีเมื่อมีกำลังเกินพอ พึงตั้งรับให้ดี รักษากองทัพไว้ด้วยการขุดหลุมตั้งค่าย ต้องโจมตีให้ดี เคลื่อนกำลังเมื่อแน่ใจว่าเป็นฝ่ายได้เปรียบ พึงป้องกันตนเองให้ดีจนกว่าจะได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ บางคนอาจเห็นว่าจะชนะได้อย่างไร แต่ก็ยังไม่สามารถนำกำลังไปวางไว้ในที่อันเหมาะสมได้นี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันจำกัด บางคนสามารถดิ้นรนจนได้รับชัยชนะ และทั้งโลกต่างก็แซ่ซ้องสรรเสริญ นี่ก็แสดงให้เห็นความสามารถอันจำกัดเช่นกัน

พึงชนะอย่างง่ายดายดุจการหยิบปอยผม อย่าใช้กำลังทั้งหมด มองหาช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเคลื่อนทัพ อย่าได้มองหาหนทางที่ปราดเปรื่อง ฟังเสียงฟ้าร้องคำราม อย่าได้เงี่ยหูฟังอะไรที่บางเบาไปกว่านั้น จงเรียนรู้จากประวัติศาสตร์การรบที่ประสบความสำเร็จ ชัยชนะย่อมตกเป็นของผู้ที่ชนะอย่างง่ายดาย

สงครามที่ดี คือ สงครามที่ชนะได้อย่างชัดแจ้ง การได้มาซึ่งชื่อเสียงไม่จำเป็นต้องใช้ความหลักแหลม การได้มาซึ่งความสำเร็จไม่จำเป็นต้องใช้ความหาญกล้า จงชนะการรบโดยไม่ต้องบากบั่น จงหลีกเลี่ยงการดิ้นรนที่เหนื่อยยาก จงสู้รบเมื่ออยู่ในตำแหนงที่มีแต่ทางชนะ การป้องกันความพ่ายแพ้ย่อมนำมาซึ่งชัยชนะได้เสมอ เข้าโรมรันเมื่อแน่ใจว่าจะชนะสงคราม อยู่ในตำแหน่งที่จะไม่มีทางพ่ายแพ้ อย่าปล่อยโอกาสที่จะเอาชนะข้าศึกให้หลุดลอย “เจ้าจะชนะสงครามได้สิ่งแรกคือ ต้องทำให้มั่นใจได้ว่าจะชนะเสียก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยแสวงหาการรบ” เอาชนะด้วยสติปัญญาเสียก่อนที่จะเริ่มทำสงคราม หลังจากนั้นจงเข้าสัประยุทธ์เพื่อชัยชนะ

ทำสงครามให้เกิดผลด้วยการสะสมความรู้ด้านการทหาร และกลวิธีในการตั้งรับ จะสามารถควบคุมชัยชนะและความพ่ายแพ้ หลักการทำสงครามมี : ระยะทาง, จำนวน, การพิจารณา, การตัดสินใจ และชัยชนะ “พื้นที่กำหนดระยะทาง ระยะทางกำหนดจำนวน จำนวนกำหนดการพิจารณา การพิจารณากำหนดการตัดสินใจ และการตัดสินใจกำหนดชัยชนะ” การสร้างชัยชนะในการรบเปรียบเสมือนการชั่งเหรียญทองเทียบกับเหรียญเงิน การสร้างความพ่ายแพ้ในการรบเปรียบเสมือน การชั่งเหรียญเงินเทียบกับเหรียญทอง
การรบให้ชนะเป็นเรื่องของการใช้คน เราต้องเทคนใส่เข้าไปในสมรภูมิให้เหมือนกระแสน้ำที่ถั่งโถมเข้าท่วมท้นช่องเขา มันเป็นเรื่องของการวางกำลัง

02 ธันวาคม 2552

  • 22:12
วางแผนโจมตี

ซุนวูกล่าวว่า ทุกผู้คนล้วนต้องพึ่งพาวิชาทหาร ชาติที่สามัคคีย่อมเข้มแข็ง ชาติที่แตกแยกย่อมอ่อนแอ กองทัพที่สามัคคีย่อมเข้มแข็ง กองทัพที่แตกแยกย่อมอ่อนแอ กองพลที่สามัคคีย่อมเข้มแข็ง กองพลที่แตกแยกย่อมอ่อนแอ ไพร่พลที่สามัคคีย่อมเข้มแข็ง ไพร่ผลที่แตกแยกย่อมอ่อนแอ หน่วยที่สามัคคีย่อมเข้มแข็ง หน่วยที่แตกแยกย่อมอ่อนแอ ความสามัคคีช่วยให้มีชัยได้ในทุกการรบ แต่ก็ยังนับว่าเป็นเป้าหมายที่ต่ำค่าสำหรับผู้นำที่อ่อนด้อย “หลีกเลี่ยงการรบ แต่ทำให้ข้าศึกยอมแพ้ได้” คือเป้าหมายที่สูงค่าสำหรับผู้นำชั้นยอด

หนทางที่ดีที่สุดคือ เข้าจู่โจมระหว่างข้าศึกยังกำลังวางแผน หนทางที่รองลงมาคือ ยุยงให้พันธมิตรของข้าศึกเกิดการแตกคอ รองลงไปอีกได้แก่การโจมตีกองทัพข้าศึก แต่ที่แย่ที่สุดได้แก่ การโจมตีเมืองใหญ่ของข้าศึก การโจมตีเมืองใหญ่ เริ่มต้นได้แต่จบไม่ได้ เราอาจลงมือด้วยการเข้าโจมตีเครื่องทุ่นแรงของข้าศึก สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเครื่องมือหรือยุทโธปกรณ์ต่างๆ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วสามเดือนก็อาจจะยังไม่สำเร็จ เราจึงหันไปปิดล้อมพื้นที่ สามเดือนผ่านไปก็ยังไปได้ไม่ถึงไหน การบัญชาการรบไม่ประสบผล มันทำให้เราฉุนเฉียว จึงตัดสินใจบุกเข้าเมือง มันทำให้ต้องสูญเสียไพร่พลไปถึงหนึ่งในสาม แต่ก็ยังขับไล่ข้าศึกออกจากเมืองไม่ได้ การสัประยุทธ์เยี่ยงนี้ถือเป็นภัยพิบัติ

ผู้เยี่ยมยอดการยุทธ์ทำให้กองทัพข้าศึกต้องยอมแพ้ ด้วยการก่อสงครามขนาดเล็ก ขับไล่ผู้คนออกจากเมืองใหญ่ด้วยการโจมตีเพียงบางเบา ทำลายชาติศรัตรูโดยใช้เวลาไม่นาน พึงใช้การรบแบบเบ็ดเสร็จ ใช้ทุกอย่างที่มีประโยชน์ เมื่อเริ่มรบแล้วอย่าได้มีการหยุด จักได้เปรียบอย่างสมบูรณ์ จะทำได้เยี่ยงนี้ต้องวางยุทธศาสตร์การโจมตี กฏในการรบมีอยู่ว่า “หากมีกำลังมากกว่าข้าศึกสิบเท่า จงปิดล้อมพวกเขาไว้ หากมีกำลังมากกว่าข้าศึกห้าเท่า จงโจมตี หากมีกำลังมากกว่าข้าศึกสองเท่า จงแบ่งแยกข้าศึก หากมีกำลังเท่ากับข้าศึก จงมองหาสนามรบที่ได้เปรียบ หากมีกำลังน้อยกว่าข้าศึก จงตั้งรับ หากอ่อนแอกว่าข้าศึกมาก ให้เลี่ยงหลบ” กำลังขนาดเล็กพลังไม่ยิ่งใหญ่ หากแต่ว่ากำลังขนาดใหญ่ไล่ไม่ได้จับไม่ทัน
เราต้องควบคุมบังคับบัญชา ชาติจึงต้องให้การสนับสนุน การสนับสนุนการทหารช่วยให้ประเทศชาติมีอานุภาพ การไม่สนับสนุนการทหารทำให้ชาติอ่อนแอ นักการเมืองสร้างปัญหาให้นักการทหารได้สามทางเยี่ยงนี้ เมื่อกองทัพไม่พร้อมจะรุกคืบหน้า พวกเขากลับสั่งให้รุก เมื่อกองทัพไม่พร้อมจะถอย พวกเขากลับสั่งให้ถอย กระทำเยี่ยงนี้คือการเป็นอุปสรรคของกองทัพ นักการเมืองไม่รู้เรื่องการรบ แต่ก็ยังคิดว่าตัวเองสามารถบัญชาทัพได้ หากแท้จริง คือการสร้างความสับสนให้กับนักรบ นักการเมืองไม่เข้าใจสายการบังคับบัญชาของกองทัพ แต่ก็ยังต้องการให้กองทัพยอมตาม สร้างความสับสนวุ่นวายให้แม่ทัพนายกอง ทั้งกองทัพจักระส่ำและสับสน ภัยหลายแห่งหนจักมุ่งสู่ จึงอาจกล่าวได้ว่า ความไร้ระเบียบในกองทัพเป็นที่มาแห่งความปราชัย


ห้าสิ่งต้องรู้เพื่อชัยชนะ ชัยชนะได้มาจากการรู้ว่าเมื่อไหร่ควรโจมตี เมื่อใดควรหลีกเลี่ยงการปะทะ ชัยชนะได้มาจากการใช้ทั้งกำลังขนาดใหญ่และขนาดเล็กอย่างเหมาะสม ชัยชนะได้มาจากการที่ทุกคนต่างก็มีเป้าหมายเป็นหนึ่งเดียว ชัยชนะได้มาจากการหาโอกาสในปัญหาให้พบ ชัยชนะได้มาจากการมีผู้นำทัพที่เชี่ยวชาญ มีอิสรภาพในการปฏิบัติ รู้ในห้าสิ่งนี้ เท่ากับรู้ทฤษฏีแห่งชัย

กล่าวกันว่า “รู้เรารู้เขา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” รู้เราแต่ไม่รู้เขา เจ้าจะชนะหนึ่งครั้งแพ้หนึ่งครั้งสลับกันไป ไม่รู้เราไม่รู้เขา รบร้อยครั้งแพ้ร้อยครั้ง
  • 22:08
หญิงวัยกลางคนเกิดอาการหัวใจวาย และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
ระหว่างที่อยู่บนเตียงผ่าตัด
เธอพบกับประสบการณ์เฉียดตาย
ซึ่งในระหว่างนี้เธอเห็นพระเจ้า...
และถามพระองค์ว่า " วาระสุดท้ายของเธอมาถึงแล้วใช่ไหม "
พระเจ้าตอบว่ายัง " เธอต้องอยู่ต่อไปอีกสามสิบปี "
หลังจากฟื้นคืนสติ เธอตัดสินใจอยู่ต่อที่โรงพยาบาลต่อ
เพื่อผ่าตัดดึงหน้า ทำปากให้อิ่มเอิบ
เสริมหน้าอกและอื่นๆอีกสารพัด เธอยังให้ช่างเข้ามาเปลี่ยนสีผมให้อีกด้วย
เธอทำเช่นนี้เพราะเห็นว่าในเมื่อจะต้องมีชีวิตอยู่อีก 30 ปี
ต้องใช้เวลาทั้งหมดนี้อย่างมีความสุขที่สุด
หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการเสริมสวย เธอเดินออกจากโรงพยาบาล
แต่โชคร้ายกลับถูกรถพยาบาลชนตาย
เมื่อมาพบหน้าพระเจ้าอีกครั้ง
เธอบ่นว่า “ฉันได้ยินว่าพระองค์บอกเองว่าฉันต้องมีชีวิตอยู่อีก 30 ปี”
พระเจ้าตอบว่า “โทษที เราจำเจ้าไม่ได้!” ...
  • 22:02
เรื่องของผู้ชายคนนี้ "หม่อง"
• เที่ยวผับ

.. ทำไม บักหม่อง ถึงพาเพื่อน...แห่กันไปเที่ยวผับ...ทีละ 18 คน...
ก็เพราะหน้าผับ... เขาประกาศไว้ว่า...
ต่ำกว่า 18 ห้ามเข้าน่ะสิ(!!)
• ทีวีสี

บักหม่อง ไปร้านขายทีวี !
ถามคนขายว่า..."ไม่ทราบว่า..ที่นี่มีทีวีสีขายรึเปล่า?

คนขายตอบว่า... "มี"

บักหม่องเลยบอกว่า... "งั้นเอาสีเขียวมาเครื่องนึง"
• กระติกนำ้ร้อน

บักหม่อง..เข้าไปเดินดูของในร้านจีฉ่อย
เห็นกระติกน้ำทำจากโลหะอันหนึ่งวางอยู่

บักหม่องถามอาอึ้มว่า ..." อึ้ม..** ที่วอบแวบสีเงินๆ นั่นอะไร"

อึ้มตอบว่า..."กระติกน้ำไง................(** ฟาย)"

"แล้วมันทำอะไรได้มั่ง"

"ก็ใส่ของร้อน-ก็ร้อนนาน................ ใส่ของเย็น-ก็เย็นนาน".

บักหม่อง..เห็นว่าน่าสนใจ.................เลยตกลงซื้อมาอันนึง
เช้าของวันใหม่..อากาศแจ่มใส
บักหม่อง..ก็เอากระติกน้ำที่เพิ่งซื้อมา..ไปที่ทำงาน..
ตั้งอวดบนโต๊ะ..อย่างภาคภูมิ
หัวหน้าบักหม่องเห็นเข้า.................เลยถามขึ้น

"อะไรนั่นน่ะ..บักหม่อง"

"กระติกน้ำครับ"

" แล้วมันมีอะไรพิเศษรึ"

"ก็ใส่ของร้อน..เก็บความร้อนได้

หรือใส่ของเย็น..ก็เก็บความเย็นได้"

หัวหน้าเลยถามว่า..

"แล้วใส่อะไรมาล่ะ"

บักหม่องยืด..ก่อนจะตอบว่า..

"กาแฟร้อน2 แก้ว.. กับไอติม1 ถ้วยครับ"
• ถ่ายเอกสาร

ทุกครั้ง..หลังถ่ายเอกสารเสร็จ
บักหม่อง..จะเอาฉบับก๊อปปี้-มาตรวจทาน..เทียบกับต้นฉบับ
เพื่อเช็คดูว่า..มีคำไหนสะกดผิดรึเปล่า
• ฟ้าผ่า

บักหม่อง..จะยิ้มทุกครั้ง.................ที่ฟ้าผ่า

เพราะนึกว่า..มีคนกำลังถ่ายรูปเขาอยู่
• โทรศัพท์เบอร์ฉุกเฉิน911

รู้ป่าวว่า...ทำไมบักหม่อง................ถึงกดโทรศัพท์เบอร์ฉุกเฉิน 911).. ไม่ได้
ก็เพราะ......เขาหาเบอร์ 11 ( สิบเอ็ด).................. บนแป้นไม่เจอ
• คอมพิวเตอร์

บักหม่อง..เพิ่งซื้อคอมพิวเตอร์มาใหม่เครื่องหนึ่ง
เล่นไปซักพัก..ก็เจอปัญหา
บักหม่อง..เลยลองกดที่ HELP บนแป้น F1
ผ่านไปพักใหญ่... บักหม่องหงุดหงิดมาก
เลยโทรไปต่อว่า..ร้านที่เขาซื้อคอมมา

' ผมกด F1 ตามที่เครื่องบอก.. เวลาที่มีปัญหา

แล้วก็รออยู่เป็นชั่วโมง.. ยังไม่เห็นมีใครมาช่วย เลย'

คนขาย :'(**...)' (!!)
• ซีตุ๊ป -ซีตุ๊ป

วันรุ่งขึ้น
บักหม่อง : เครื่องคอมพิวเตอร์ คุณนี่ห่วยมากอีกแล้วน่ะ
ผมเสียเงินซื้อไปตั้งเยอะมีแต่ปัญหาไม่รู้จบ
หน่ำซ้ำ พอโทรมาสอบถามพนักงานงานขายของคุณ ก็ดันตอบไม่รู้เรื่อง

ผู้จัดการ : มีปัญหาอะไรให้ดิฉันรับใช้ได้ค่ะ
( เสียงสั่นเครือมากด้วยอาการที่หวาดกลัวจะถูกลูกค้าด่ากลับ)

บักหม่อง : ก็หน้าจอคอมพิวเตอร์ของคุณน่ะ
รายงานผลว่า'

ซีตุ๊ป -ซีตุ๊ป'

ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง

ผู้จัดการ: บอกว่าเธอก็ไม่รู้ว่า ไอ้ซีตุ๊ป-ซีตุ๊ปเนี่ยมันคืออะไร
ช่วงนั้นก็น้ำตาเกือบไหล เพราะกะว่าถ้าตอบปัญหาลูกค้าไม่ได้
ต้องถูกไล่ออกแน่เลยตู

จนกระทั่ง.....

ผู้จัดการ : คุณลองสะกดคำว่า' ซีตุ๊ป - ซีตุ๊ป' หน่อยสิคะ
ว่าสะกดอย่างไร

บักหม่อง : S - E - T - U - P - S - E - T - U - P

ผู้จัดการ :คุณนี่ สุดยอด จริง ๆอ่านได้งัย ซีตุ๊ป– ซีตุ๊ป
• ไปหาหมอ

บักหม่อง..ไปหาหมอ...ในสภาพหูบวมแดงน่ากลัว

หมอถามว่า..."ไปโดนอะไรมาครับ"

บักหม่องตอบว่า.."ผมกำลังรีดผ้าอยู่.. แล้วโทรศัพท์ก็ดังขึ้น

แต่แทนที่จะหยิบโทรศัพท์มาพูด

ผมดันเผลอ..เอาเตารีดขึ้นมาแนบหูน่ะสิ"

"โอ้ว..เดียร์"

หมออุทานเป็นภาษาฝรั่ง................ด้วยความเวทนา

"แล้วหูอีกข้าง..ทำไมถึงแดงเหมือนกันล่ะ"

.. หมอถามต่อ

"ก็**บ้านั่น...เสือ_ โทร.กลับมาอีกรอบ..อ่ะดิหมอ"
• จิ๊กซอว์

* หลังจาก...ใช้ความพยายาม................ต่อจิ๊กซอว์อยู่นาน
ในที่สุด..บักหม่องก็ต่อเสร็จ
เขาเอาไปอวดเพื่อน..ด้วยความภูมิใจ

"เป็นไง... เนี่ยฉันใช้เวลาต่อ..แค่ 5 เดือนเองนะโว้ย'

เพื่อนบักหม่องงง..ที่เขากล้าอวด

"5 เดือนเหรอ ! แถวบ้านฉันเรียกว่า..! โคตรนานเลยนะนั่น"

"แกนี่ไม่รู้อะไร"

บักหม่อง..ไม่ยอมลดละ

"ดูที่กล่องนี่... เห็นมั้ย...มันบอกว่า...

"สำหรับ 4-7 ปี"

แต่..ฉันใช้เวลาแค่ 5 เดือนเองนะเฟ้ย..(!!)
  • 21:47
การทำสงคราม

ซุนวูกล่าวว่า ทุกสิ่งล้วนขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญด้านการยุทธ์ การเคลื่อนทัพต้องใช้ยานพาหนะหลายพันคัน ยานพาหนะแต่ละคันต้องบรรทุกหลายพันเที่ยว กองทัพต้องใช้อาวุธมหาศาล ใช้ภักษาหารหลายพันไร่ เป็นเหตุของการขาดแคลนทั้งภายในและภายนอก ทุกกองทัพล้วนผลาญทรัพยากรดุจผู้รุกราน ใช้กาวและสีในงานไม้ ใช้โลหะสร้างเกราะหุ้มรถรบ ผู้คนบ่นอึงถึงเศษโลหะเหลือคณา เหล่านี้ คือ อุปสรรคสำหรับการรวบรวมกำลังพลนับหมื่นแสน ใช้กองทัพเป็นเหตุให้ชัยชนะมีราคาแพง การรอนานเป็นเหตุให้กองทัพย่อหย่อนพ่ายแพ้ง่าย โจมตีเมืองหลวงเปลืองกำลัง การสัปยุทธ์ยืดเยื้อหนักหน่วงที่ผลาญทรัพยากรของชาติเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ปล่อยให้กองทัพซบเซา เราจะถูกย่ำยี ปล่อยกองทัพให้ปลกเปลี้ย เงินจะหมดไปจากท้องพระคลัง กองทัพอ่อนแอเป็นเหตุให้ศรัตรูฮึกเหิม ไม่ว่าเราจะปราดเปรื่องเพียงใดล้วนไม่สำคัญ ความสิ้นเปลืองย่อมเป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปข้างหน้า อาจมีผู้ทำสงครามอย่างหุนหัน แต่จะไม่มีการทำสงครามอย่างช่ำชองเชี่ยวชาญที่ใช้เวลานาน จะทำศึกนาน หรือจะเลือกให้ประเทศเข้มแข็ง สองสิ่งนี้ไม่สามารถทำได้ในเวลาเดียวกัน

ไม่คาดคิดถึงภัยที่จะได้จากการใช้กำลังทหาร ย่อมคาดฝันถึงประโยชน์จากการใช้กองทัพไม่ได้เฉกเช่นกัน หากต้องการได้ผลดีจากการศึก จงอย่าเกณฑ์รี้พลให้บ่อยเกิน อย่าบรรทุกเสบียงให้มากเกิน ยึดประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ใช้เสบียงของข้าศึกให้เกิดประโยชน์ ให้กองทัพของเราขนข้าวของเฉพาะที่จำเป็น

ชาติต้องเฉือนเนื้อตนส่งให้กองทหารที่อยู่ไกล การขนส่งทางไกลใช้จ่ายสูง ทำให้ครอบครัวมากมายต้องเดือดร้อน กองทหารทำให้ข้าวของแพง ราคาแพงบั่นทอนความมั่งมี หากความมั่งมีถูกบั่นทอน กองทหารก็ยิ่งขาดแคลน กองทหารใช้ทรัพยากรของทั้งชาติ สงครามทำให้ครอบครัวในชาติไม่มีอะไรเหลือ สงครามทำให้ครอบครัวมากหลายต้องเดือดร้อน อย่างน้อยสามในสิบครอบครัวต้องเป็นเช่นนี้ สงครามทำให้ท้องพระคลังว่างเปล่า กองทหารขาดแคลน ทำให้จำนวนม้าขาดหาย เกราะ หมวกและธนูจะถูกทิ้ง ดาบและโล่จะสูญหาย เกวียนจะไร้วัวเทียม สงครามผลาญได้ถึงหกในสิบของทุกอย่างในชาติ
เพราะเหตุนี้แม่ทัพผู้สามารถจึงต้องใช้เสบียงของข้าศึก อาหารข้าศึกหนึ่งถ้วย มีค่าเท่ากับของเรายี่สิบถ้วย ข้าวข้าศึกหนึ่งถัง มีค่าเท่ากับของเรายี่สิบถัง ฆ่าข้าศึก แล้วพวกเขาจะเดือดดาล ยึดทรัพย์สิน ข้าศึกจะขาดกำลัง จงแย่งชิงเกวียนบรรทุกเสบียงของข้าศึก ใช้กำลังที่เหนือกว่าเข้ายึดเสบียงของข้าศึก ให้รางวัลกับคนแรกที่ทำได้สำเร็จ แล้วเปลี่ยนป้ายชื่อและธงเป็นของเรา นำเข้าไปรวมกับกองเกวียนของเราเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการส่งกำลังบำรุง ทหารแข็งแรงกองทัพเข้มแข็ง นี่คือการทำฝ่ายตนเองให้เข้มแข็งเพื่อสยบฝ่ายตรงข้าม

จงคว้าชัยมาโดยยอมให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด หลีกเลี่ยงการรบที่ยาวนานและสิ้นเปลือง ความเชี่ยวชาญการศึกคือหัวใจ มันตัดสินอนาคตของรัฐ มันตัดสินว่าชาวบ้านจะอยู่ได้อย่างเป็นสุขหรือทุกข์ยาก

14 กันยายน 2552

  • 17:16
ฤทธิ์ป้องของมะรุม
ตอนที่4
ทั้งนี้ กลุ่มที่กินมะรุมและยามีคอเลสเทอรอลฟอสโฟไลพิด ไตรกลีเซอไรด์ VLDL LDL ปริมาณคอเลสเทอรอลต่อฟอสโฟไลพิด และ atherogenic index ต่ำลง ทั้ง 2 กลุ่มมีการสะสมไขมันในตับ หัวใจ และหลอดเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ตา)

โดยกลุ่ม ควบคุมปัจจัยด้านการสะสมไขมันในอวัยวะเหล่านี้ไม่มีค่าลดลงแต่อย่างใด กลุ่มที่กินมะรุมพบการขับคอเลสเทอรอลในอุจจาระเพิ่มขึ้น ผู้วิจัยจึงสรุปว่าการกินมะรุมมีผลลดไขมันในร่างกาย

ที่ประเทศอินเดียมี การใช้ใบมะรุมลดไขมันในคนที่มีโรคอ้วนมาแต่เดิม การศึกษาการกินสารสกัดใบมะรุมในหนูที่กินอาหารไขมันสูงมีปริมาณคอเลสเทอร อลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้กลุ่มทดลองมีปริมาณไขมันในตับและไตลดลง

สรุปว่าการให้ใบมะรุมเพื่อลดปริมาณไขมันทางการแพทย์อินเดียสามารถวัดผลได้ในเชิงวิทยาศาสตร์จริง

ฤทธิ์ป้องกันตับ
งาน วิจัยการให้สารสกัดแอลกอฮอล์ของใบมะรุมกรณีทำให้ตับหนูทดลอง เกิดความเสียหายโดยไรแฟมไพซิน พบว่าสารสกัดใบมะรุมมีฤทธิ์ป้องกันตับ โดยมีผลกับระดับเอนไซม์แอสาเทตอะมิโนทรานสเฟอเรส อะลานีน ทรานมิโนทราน สเฟอเรส อัลคาไลน์ฟอสฟาเทส และบิลิรูบินในเลือด และมีผลกับปริมาณไลพิดและไลพิดเพอร์ออกซิเดสในตับ โดยดูผลยืนยันจากการตรวจชิ้นเนื้อตับ สารสกัดใบมะรุมและซิลิมาริน (silymarin กลุ่มควบคุมบวก) มีผลช่วยการพักฟื้นของการถูกทำลายของตับจากยาเหล่านี้


เอกสารอ้างอิง:

Nature’s Medicine Cabinet by Sanford Holst
The Miracle Tree by Lowell Fuglie
LA times March 27th 2000 article wrote by Mark Fritz. WWW.PUBMED.GOV. (Search for Moringa) (Antiviral Research Volume 60, Issue 3, Nov. 2003, Pages 175-180: Depts. of Microbiology, Pharmaceutical Botany, Pharmacology, Faculty of Pharmaceutical Science, Chulalongkorn University, Bangkok.

นิตยสารหมอชาวบ้านปีที่ 29 ฉบับที่ 338 มิถุนายน 2550
จบเรื่องของมะรุม
  • 17:14
น้ำมันมะรุม
ตอนที่3
สรรพคุณ ..
ใช้หยอดจมูกรักษาโรคภูมิแพ้ ไซนัสโรคทางเดินหายใจ ใช้หยอดหูฆ่าและป้องกันพยาธิในหู รักษาอาการเยื่อบุหูอักเสบ รักษาโรคหูน้ำหนวก ใช้ทาผิวหนังรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อราและเชื้อไวรัส รักษาโรคเริม งูสวัด รักษาและบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้น ใช้ทารักษาแผลสด หูด ตาปลา ใช้ถูนวดบรรเทาอาการบริเวณที่ปวดบวมตามข้อ รักษาโรคไขข้ออักเสบ เก๊าท์ รูมาติก เป็นต้น

ชะลอความแก่
กล่าว กันว่ามะรุมมีฤทธิ์ชะลอความแก่ เนื่องจากยังไม่พบรายงานการวิจัยเกี่ยวกับมะรุมในด้านนี้ คาดว่าเป็นการสรุปเนื่องจากมะรุมมีสารฟลาโวนอยด์สำคัญคือ รูทินและเควอเซทิน (rutin และ quercetin) สารลูทีนและกรดแคฟฟีโอลิลควินิก (lutein และ caffeoylquinic acids) ซึ่งต้านอนุมูลอิสระ ดูแลอวัยวะต่างๆ ได้แก่ จอประสาทตา ตับ และหลอดเลือดจากการเสื่อมสภาพตามอายุ การกินสารต้านอนุมูลอิสระชะลอการเสื่อมสภาพในเซลล์ร่างกาย

ฆ่าจุลินทรีย์
สาร เบนซิลไทโอไซยาเนตโคไซด์และเบนซิลกลูโคซิโนเลตค้นพบในปี พ.ศ. 2507 จากมะรุมมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ สนับสนุนการใช้น้ำคั้นจากมะรุมหยอดหูแก้ปวดหู
ปัจจุบันหลังจากค้นพบแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร Helicobactor pylori กำลังมีการศึกษาสารจากมะรุมในการต้านเชื้อดังกล่าว

การป้องกันมะเร็ง
สาร เบนซิลไทโอไซยาเนตไกลโคไซด์ชนิดหนึ่งและสารไนอาซิไมซิน (niazimicin) จากมะรุมสามารถต้านการเกิดมะเร็งที่ถูกกระตุ้นโดยสารฟอบอลเอสเทอร์ในเซลล์ มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
การทดลองในหนูพบว่าหนูที่ได้รับฝักมะรุมเป็นอาการ เกิดโรคมะเร็งผิวหนังจาก การกระตุ้นน้อยกว่ากลุ่มทดลอง โดยกลุ่มที่กินมะรุมเนื้องอกบนผิวหนังน้อยกว่ากลุ่มควบคุม

ฤทธิ์ลดไขมันและคอเลสเทอรอล
จาก การทดลอง 120 วัน ให้กระต่ายกินฝักมะรุม วันละ 200 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวันเทียบกับยาโลวาสแตทิน 6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวันและให้อาหารไขมันมาก
  • ใบมะรุม 100 กรัม (คุณค่าทางโภชนาการของอาหารอินเดีย พ.ศ. 2537)
  • พลังงาน 26 แคลอรี
  • โปรตีน 6.7 กรัม (2 เท่าของนม)
  • ไขมัน 0.1 กรัม
  • ใยอาหาร 4.8 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 3.7 กรัม
  • วิตามินเอ 6,780 ไมโครกรัม (3 เท่าของแครอต)
  • วิตามินซี 220 มิลลิกรัม (7 เท่าของส้ม)
  • แคโรทีน 110 ไมโครกรัม
  • แคลเซียม 440 มิลลิกรัม (เกิน 3 เท่าของนม)
  • ฟอสฟอรัส 110 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 0.18 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 28 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 259 มิลลิกรัม (3 เท่าของกล้วย)
  • 17:05
คุณค่าฃองมะรุม
ตอนที่2

ส่วนอื่นๆ ของโลกจะใช้ใบมะรุมประกอบอาหารเช่นเดียวกับการใช้ผักขมฝรั่ง หรือปรุงเป็นซอสข้นราดข้าวหรืออาหารแป้งอื่นๆ นอกจากนี้ ใช้ใบตากแห้งป่นเก็บไว้ได้นานโรยอาหาร เช่นเดียวกับที่ภูมิปัญญาอีสานจังหวัดสกลนครใช้ใบมะรุมแห้งปรุงเข้าเครื่อง “ผงนัว” กับสมุนไพรอื่นไว้แต่งรสอาหารมาแต่โบราณ ส่วนฝักอ่อนปรุงอาหารเหมือนถั่วแขก


คุณค่าทางอาหารของมะรุม
มะรุมเป็นพืชมหัศจรรย์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุด กล่าวถึงในคัมภีร์ใบเบิ้ลว่าเป็นพืชที่รักษาทุกโรค
ใบ มะรุมมีโปรตีนสูงกว่านมสด 2 เท่า การกินใบมะรุมตามชนบทของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศโลกที่ 3 เป็นการเพิ่มโปรตีนคุณภาพสูงราคาถูกให้กับอาหารพื้นบ้าน
นอกจากนี้ มะรุมมีธาตุอาหารปริมาณสูงเป็นพิเศษที่ช่วยป้องกันโรค นั่นคือ


วิตามินเอ บำรุงสายตามีมากกว่าแครอต 3 เท่า
วิตามินซี ช่วยป้องกันหวัด 7 เท่าของส้ม
แคลเซียม บำรุงกระดูกเกิน 3 เท่าของนมสด
โพแทสเซียม บำรุงสมองและระบบประสาท 3 เท่าของกล้วย
ใยอาหารและพลังงาน ไม่สูงมากเหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำหนักอีกด้วย
น้ำมันสกัดจากเมล็ดมะรุม มีองค์ประกอบคล้ายน้ำมันมะกอกดีต่อสุขภาพอย่างยิ่ง

จากอาหารมาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นผลิตชาใบมะรุมออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ระบุว่าใช้ แก้ไขปัญหาโรคปากนกกระจอก หอบหืด อาการปวดหูและปวดศรีษะ ช่วยบำรุงสายตา ระบบทางเดินอาหาร และช่วยระบายกาก
ประเทศอินเดีย หญิงตั้งครรภ์จะกินใบมะรุมเพื่อเสริมธาตุเหล็ก แต่ที่ประเทศที่ฟิลิปปินส์และบอสวานาหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมจะกินแกงจืดใบ มะรุม (ภาษาฟิลิปปินส์ เรียก “มาลังเก”) เพื่อประสะน้ำนมและเพิ่มแคลเซียมให้กับน้ำนมแม่เหมือนกับคนไทย

ประโยชน์ของมะรุม
1.ใช้รักษาโรคขาดอาหารในเด็กแรกเกิดถึง 10 ขวบ และลดสถิติการเสียชีวิต พิการ และตาบอดได้เป็นอย่างดี
2.ใช้รักษาผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานให้อยู่ในภาวะควบคุมได้
3.รักษาโรคความดันโลหิตสูง
4. ช่วย เพิ่มและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ทานผลิตผลจากมะรุมในระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่เกิดมาจะไม่ติดเชื้อHIV นอกจากนี้ถ้ารับประทานอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้งยังช่วยให้คนทั่วๆไปสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง
5.ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ให้อยู่ในภาวะควบคุมได้ การรักษาโรคเอดส์ที่ประสพผลสำเร็จในกลุ่มประเทศแอฟริกา
6. ถ้ารับประทานสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็ง แต่ถ้าหากเป็นก็จะช่วยให้การรักษาพยาบาลง่ายขึ้น ในบางกรณีสามารถหยุดการเจริญเติบโตของโรคร้ายได้ ถ้าใช้ควบคู่ไปกับยาแพทย์แผนปัจจุบัน
หากผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งได้รับการรักษาด้วยรังสี การดื่มน้ำมะรุมจะช่วยให้การแพ้รังสีฟื้นตัวเร็วขึ้นและมีร่างกายที่แข็งแรง
7.ช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ โรคเก๊าท์ โรคกระดูกอักเสบ โรคมะเร็งในกระดูก โรครูมาติซั่ม
8. รักษาโรคตาเกือบทุกชนิด เช่น โรคตามืดตามัวเพราะขาดสารอาหารที่จำเป็น โรคตาต้อ เป็นต้น หากรับประทานสม่ำเสมอ จะทำให้ตามีสุขภาพที่สมบูรณ์
9.รักษาโรคลำไส้อักเสบ โรคเกี่ยวกับท้อง ท้องเสีย ท้องผูก โรคพยาธิในลำไส้
10.รักษาปอดให้แข็งแรง รักษาโรคทางเดินของลมหายใจ และโรคปอดอักเสบ
11.เป็นยาปฏิชีวนะ
A call-to-action text Contact us