:::: MENU ::::

MYM

เรารักการแบ่งปัน

  • OfRKTf.md.png

    Sharing content

  • OfRwyb.md.png

    Sharing content

  • OfRZja.md.png

    Sharing content

14 พฤศจิกายน 2555

  • 23:20
ในที่สุดพวกเราชาวเหมียวเหมียวก็มาถึงศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ บ้านแมวไทยจนได้ มองจากด้านนอกก็เหมือนบ้านคนธรรมดาๆ หลังหนึ่งไม่มีอะไรเป็นพิเศษนอกจากลานกว้างหน้าปากทางเข้าบ้านที่ทำเป็นที่ว่างสำหรับจอดรถได้หลายคัน พวกเรามองเข้าไปดู บรรยากาศเหงาๆ เพราะมาค่อนข้างบ่ายคล้อยแล้ว ที่นี่ไม่เก็บค่าเข้าชม แต่วางกล่องบริจาคไว้ แล้วแต่ศรัทธาใครจะช่วยค่าอาหารแมว
พอเดินเข้ามาด้านใน พวกเราก็เห็นคุณลุงคนนึงหน้าตาใจดีมากๆ พอแกเห็นแมวๆ มาเที่ยวบ้านแมวไทยด้วย ก็ดีอกดีใจออกมาต้อนรับขับสู้ พูดคุยด้วยตลอดเวลา ถึงได้ทราบว่าที่แท้คุณลุงเป็นเจ้าของนี่เอง คุณลุงชื่อลุงกำนันปรีชา พุคคะบุตร เลี้ยงแมวไทยแท้ไว้แยะแยะหลายร้อยตัวทีเดียว พวกเราพากันมาออฟังคุณลุงเล่า แมวไทยสายพันธุ์แท้ๆ เป็นยังไงกัน แล้วพวกผมเนี่ย พันธุ์อะไรกันมั่งน๊อ...
คุณลุงบอกว่า แมวไทยของที่นี่หลงเหลืออยู่ สายพันธุ์หลักๆ ได้แก่ แมวศุภลักษณ์ สีสวาด วิเชียรมาศ โกนจา และขาวมณี
แหม....แต่ละตัวชื่อเพราะๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่เพราะแต่ชื่ออย่างเดียวนะก๊าบ แต่ละตัวก็ลักษณะดีสีสวยๆ หุ่นสะโอดสะองกันทั้งนั้น ไม่เห็นมีใครพุงพลุ้ยเผล่ะเหมือนเหมียวตา หรือตัวแคระๆ แกนๆ เหมือนแบ๊ซ กระหร่องๆ เหมือนแบ๊วเลยซักกะตัว
ที่นี่จับแมวใส่กรงไว้หมดไม่เห็นมีตัวไหนอิสระได้ออกมาเดินเพ่นพ่านเหมือนพวกเรา ทำไมเหรอฮะ คุณลุงบอกว่า ปล่อยไมด๊ายยย...(สำเนียงแปร่งๆ นิ๊สนุง) เดี๋ยวไอ้หลามเอาไปกินหมด...อ๋า....ไอ้หลามที่ว่านี่คืออะไรฮะ เหมียวตาถามงงๆ ไอ้หลามก็งูหลามไงเล่า มันชอบงาบเหมียวนักหล่ะ ขืนปล่อยแมวเดินเพ่นพ่านมีหวังได้เป็นอาหารอันโอชะ ท้องร่องสวนแถวนี้งูหลามเยอะ....ง่า...ได้ยินแล้วชักเสียว แบ๊ซว่าพวกเรารีบกลับเหอะเหมียวตา กลัวเจอไอ้หลามอย่างลุงว่า  นอกจากกลัวแมวจะโดนไอ้หลามเอาไปกินแล้ว การเอาแมวใส่กรงยังเป็นการป้องกันการผสมข้ามสายพันธุ์อีกด้วย เพราะลุงต้องการได้แมวพันธุ์ไทยเพียวๆ นะ
พวกผมจ้องมองเพื่อนๆ เหมียวไทยแท้ในกรงอย่างนึกสงสารในใจ แต่คิดๆ ไปก็จริงของลุงนั่นหล่ะ กลัวเพื่อนๆ จะกลายเป็นอาหารไอ้หลามด้วย ดูแต่ละตัวแล้ว โอ้โฮ...ราคา 4-5 ถึง 6 หลักยังมีนะเนี่ย ไอ้หลามพวกนี้หัวสูงชอบกินของแพงซะด้วย หน้ากรงจะมีชื่อของแมวด้วย ชื่อน่ารักๆ ไทยๆ สมตัวกันทุกตัวเลย เช่น ดอกรัก ละมุน นิลน้อย สีนวล สีนิล สะอางค์ ดอกเลา อื่นๆ อีกมากมายจำไม่ได้ละ แต่ละกรงจะมีกระบะทรายไว้สำหรับให้แมวขับถ่าย จานวางอาหาร น้ำดื่ม เรียกว่าวันๆ วนๆ อยู่แต่ในกรงของตัวเองนั่นแหล่ะ พวกผมเกาะขอบกรงทักทาย บางตัวอารมณ์ดีก็หันมาทักด้วย บางตัวหงุดหงิดก็แค่เหลือบตามองแล้วก็หันหลังเชิดใส่ให้ แหม....เค๊าอุตส่าห์มาเยี่ยมเยียน ไม่ยินดียินร้ายกับพวกเราเลยนะ สงสัยอิจฉาที่พวกเราอยู่นอกกรงกัน
คุณลุงอธิบายถึงแมวไทยแต่ละตัวให้ฟังแล้ว แต่แบ๊ซจำได้ไม่หมดก๊าบ เลยหนีบเอาโบรชัวร์บ้านแมวไทยกลับมาด้วย แล้วก็ค้นวิกิพีเดียอีกนิโหน่ย เอาของเขามาเขียนละกันนะก๊าบ เอาตามนี้เลยนะก๊าบ
 
ตัวแรกก่อน แนะนำให้รู้จักแมวศุภลักษณ์ หรือแมวทองแดง (Copper) แมวศุภลักษณ์ปรากฏในสมุดข่อยโบราณเรียกอีกอย่างว่า แมวทองแดง เนื่องจากมีขนสีน้ำตาลเข้มเหมือนสีทองแดงเสมอกันทั้งตัว ตามีสีเหลืองเป็นประกาย แมวพันธุ์ศุภลักษณ์จะมีสีสันสะดุดตาอย่างมาก และ มีความสวยงาม สมกับคำว่า "ศุภลักษณ์" ที่แปลว่าลักษณะที่ดี ว่ากันว่าแมวชนิดนี้เป็นแมวที่ได้ติดตามเจ้าของที่เป็นคนไทยซึ่งถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกที่พม่า เมื่อความนิยมได้แพร่หลายมากขึ้น ชาวต่างชาติจึงได้นำไปจดทะเบียนเป็นแมวสายพันธุ์หนึ่งของโลก โดยใช้ชื่อว่า  เบอร์มีส (Burmese) แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองไทย
แมวศุภลักษณ์ เป็นแมวที่มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ อยากรู้อยากเห็น ชอบผจญภัย รักอิสระเสรีเหนืออื่นใด ชอบสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว กับคนแปลกหน้าแล้วมันดูจะเป็นแมวที่ร้ายพอสมควร   (แหม...อันที่จริงลักษณะเหล่านี้พวกผมก็มีนะก๊าบ)

ปัจจุบันนี้แมวศุภลักษณ์ในเมืองไทยหายากมากแต่มีทั่วไปในอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งได้มีการพัฒนาผสมพันธุ์กัน จนได้แมวในลักษณะ และสีอื่น ๆ มากมาย ทำนองคล้ายพันธุ์วิเชียรมาศที่แยกออกไปถึง 8 พันธุ์
แมวศุภลักษณ์ เป็นแมวโบราณที่บุคคลชั้นสูงมักจะเลี้ยงกัน เพราะเป็นแมวที่ดี ผู้ใดได้ครอบครองจะร่ำรวย และมีความสุข สุขภาพดี การงานรุ่งเรื่อง ดังนั้นบุคคลชั้นสูงในสมัยก่อนจึงนิยมเลี้ยงแมวพันธุ์นี้

ตัวต่อมาเรียกว่าแมวสีสวาด (Silver Blue) หรือที่ใครๆ พากันเรียกเขาว่า แมวโคราช หรือ แมวมาเลศ ต้นกำเนิดพบที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มีหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับแมวโคราชในสมุดข่อยที่เขียนขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1350-1767 หรือประมาณ พ.ศ. 1893-2310 ในบันทึกได้กล่าวถึงแมวที่ให้โชคลาภที่ดี 17 ตัวของประเทศไทย รวมถึงแมวโคราชด้วย
แมวเพศผู้มีสีเหมือนดอกเลา จึงเรียก แมวสีดอกเลา โดยจะต้องมีขนเรียบ ที่โคนขนจะมีสีขุ่น ๆ เทา ในขณะที่ส่วนปลายมีสีเงิน เป็นประกายคล้ายหยดน้ำค้างบนใบบัว หรือเหมือนคนผมหงอก
ชื่อแมวโคราช เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยใช้แหล่งกำเนิดของแมวเป็นชื่อเรียกพันธุ์แมว มีเรื่องเล่ามากมายหรือเป็นตำนานเล่าขานเกี่ยวกับแมวโคราช รวมถึงตำนานพื้นบ้านที่กล่าวถึงการที่แมวโคราชมีหางหงิกงอมากเท่าไหร่จะมี โชคลาภมากเท่านั้น (แม้ว่าลักษณะหางหงิกงอไม่ใช่มาตรฐานพันธุ์ตามหลักของ CFA ก็ตาม) แต่คนไทยบางกลุ่มจะเรียกแมวโคราชว่า แมวสีสวาด
แมวโคราชได้ถูกนำไปเลี้ยงในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกโดย Cedar Glen Cattery ในมลรัฐโอเรกอน โดยได้รับมาจากพี่น้องชื่อ นารา (Nara) และ ดารา (Darra) ในวันที่ 12 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2502 ประมาณเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2509 นักผสมพันธุ์แมวโคราชและแมวไทย (วิเชียรมาศ) ชาวรัฐแมริแลนด์ ได้นำแมวโคราชประกวดในงานประจำปีและ ได้รับรางวัลชนะเลิศและเป็นที่รู้จัก

ปัจจุบันได้มีการผลักดันให้แมวโคราชขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ประจำชาติไทย ในปี พ.ศ. 2552
ตัวต่อมาสำคัญที่สุดเลยนะ คุณลุงบอกเพราะว่ามันคือ แมวสยามของแท้เลย พวกเรามักได้ยินคนเรียกกันว่า แมววิเชียรมาศ  แมววิเชียรมาศเป็นแมวไทยโบราณที่มักเลี้ยงกันในวัง ตั้งแต่สมัยอยุธยา และเป็นแมวมงคลตามตำรา มักกล่าวว่าแมวมงคลคนธรรมดาสามัญชนไม่สามารถเลี้ยงได้ เมื่อสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แมวไทย 17 ชนิดในพระราชวังของกรุงศรีอยุธาได้ถูกพวกพม่า และเชลย นำกลับไปพม่า เพราะพม่าคิดว่า แมวไทยคือทรัพย์สินที่มีค่าชนิดนึง เนื่องจากแมวไทยในอยุธยาสามารถซื้อขายได้ถึง 1แสนตำลึงทองหากใครมีแมวชนิดนี้จึงนำมาขายแก่วัง ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้แมวไทยสูญพันธุ์ หลังจากนั้น แมววิเชียรมาศก็สาบสูญหายไปจากประเทศไทย ต่อมา สมเด็จพุฒาจารย์ พุทธสโร ได้ไปเที่ยวกรุงศรีอยุธยาร้าง แล้วไปเจอสมุดข่อยที่บันทึกเรื่องแมวไทยไว้ไม่ถูกเผา จึงนำสมุดข่อยกลับมา แล้วให้คนไปไล่ต้อนจับแมววิเชียรมาศ จนได้แมววิเชียรมาศกลับมาสู่ประเทศไทยอีกครั้ง
แมววิเชียรมาศ ตรงกับความหมายว่า "เพชรแห่งดวงจันทร์" หรือ "Moon Diamond" บางตำราก็เรียก "แมวแก้ว" ซึ่งก็ตรงกับคำว่า "วิเชียร" แมวชนิดนี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็น แมวเก้าแต้มเสมอ ที่จริงแล้วไม่ถูกต้อง แมวเก้าแต้มคือแมวที่มีสีพื้นสีขาว และมีแต้มบนร่างกาย 9 แห่ง เหตุที่มักเข้าใจผิดเพราะแมววิเชียรมาศ จะมีสีพื้นสีขาวงาช้าง (หรือโบราณจะเป็นขาวล้วนก็ไม่ทราบ) และมีแต้มที่จมูกครอบไปถึงปากเป็นหนึ่งแห่ง กับขาทั้งสี่ หูสอง หางหนึ่ง และที่อวัยวะเพศอีกหนึ่ง รวมเป็น 9 แห่งเช่นกัน ในแมววิเชียรมาศนี้แต้มตามตำราว่าไว้ว่าต้องเป็นสีดำดังหมึกวาด แต่ปัจจุบันเมื่อดูให้ดีแล้วจะเป็นแต้มสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ไม่ได้ดำสนิท หรือที่ต่างประเทศเรียกว่า Seal brown หรือแต้มสีครั่ง แมววิเชียรมาศเป็นที่รู้จักในต่างประเทศโดยใช้ชื่อว่า แมวสยาม (Siamese Cat) แต่ต่างประเทศจะมีแต้มสีอื่นที่หลากหลายกว่า ซึ่งประเทศไทยจะยอมรับเฉพาะแมวที่มีแต้มสีน้ำตาลเข้มเท่านั้น นัยน์ตาสีฟ้าก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของแมวชนิดนี้

ตัวต่อมาขาโจ๋พากันหวาดหวั่น เพราะสีดำทมึนนัยน์ตาลุกวาวเวลาจับจ้อง พวกผมเห็นแล้วพากันอกสั่นขวัญแขวนไม่หาย คุณลุงบอกว่าอย่ากลัวไปเลย พวกเขาน่ารัก ใจดีมากๆ ตัวนี้มีสีดำ สนิทตลอดทั้งตัว ขนสั้น ไม่มีสีอื่นใดปะปนเลยแม้แต่น้อย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีลักษณะเป็นขนเส้นเล็กละเอียดนุ่มและเรียบตรงทั้งลำตัว ส่วนหัวกลมแต่ไม่โต มีปากเรียวแหลม หูตั้ง นัยตาเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือทองอ่อน รูปร่างสะโอดสะองคล่องแคล่ว หางยาว ปลายหางแหลมตรง อุ้งเท้าทอดคล้ายเท้าสิงห์ เวลาเดินจะทอดเท้าเหมือนสิงโต แมวที่ว่านี้เรียกว่า โกนจา หรือ โกญจา ซึ่งแปลว่า นกกระเรียน      แมวสายพันธุ์โกนจา มีลักษณะคล้ายกับแมวสายพันธุ์ต่างชาติอีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ   บอมเบย์ (Bombay)หันกลับมามองดูตัวเองสิ จากตัวอย่างแมวไทยแท้สี่ตัวด้านบน เหมียวตากับพวกผมไม่มี ใครสีทองแดง ถึงแม้น้องบ้องแบ๊วสีใกล้เคียงแต่ก็ออกน้ำตาลมากเกินไปซะอีก พอมาดูสีสวาด ยิ่งเป็นไปไม่ได้ พวกผมไม่มีใครสีเทากันสักตัว วิเชียรมาศยิ่งไปกันใหญ่พวกผมไม่มีใครตาสีฟ้า....เฮ่อ...พูดถึงแบ๊ซก็มีสีดำ แต่แบ๊ซมีเฉพาะหัวน่ะ ตกลงแบ๊ซก็ไม่ใช่ โกนจา ไม่ใช่บอมเบย์ ตกลงสามสี่ยี่ห้อแล้ว พวกผมไม่ตรงลักษณะพวกเขาสักกะตัว มาดูตัวต่อไปกันดีกว่าเผื่อจะเหมือนกับเขามั่งคุณลุงก๊าบ เล่าถึงแมวไทยตัวสุดท้ายที่มีอยู่หน่อยสิครับ
คุณลุงหันไปเปิดกรง อุ้มเหมียวสาวสีขาวสวยมากๆ ออกมาตัวหนึ่ง ตัวนี้ดูให้ดีนะ ตัวมันขาวปลอดสนิทหมดทั้งตัวไม่มีสีอะไรปะปนเลย แต่ตามันสองข้างจะเป็นคนละสีกัน (Odd eyes) ดูสิ ตัวนี้ซ้ายสีเหลือง ขวาสีฟ้า จากการศึกษาพบว่าแมวที่ตาสองสีเนี่ย ตามันจะมีปัญหาไปข้างนึงนะ ห๊า....จริงเหรอก๊าบ คนสวยตาบอดหรือนี่....ความจริงเกิดจากยีนของมันด้อยทำงานผิดปกติน่ะ แต่แมวแบบนี้มีเยอะนะ เราเรียกมันว่า ขาวมณี (Pure White)
 

แมวขาวมณี หรือ ขาวปลอดเป็นสายพันธุ์ที่พบเห็นได้มากสุดในปัจจุบัน เป็นแมวไทยโบราณที่ไม่ได้มีบันทึกไว้ในสมุดข่อย จึงเชื่อว่าเป็นแมวที่เพิ่งกำเนิดในต้นยุครัตนโกสินทร์นี่เอง นิยมเลี้ยงไว้ในราชสำนักครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 แมวชนิดนี้เป็นที่โปรดปรานมาก ในต่างประเทศนิยมเลี้ยงกันเป็นคู่เพื่อให้ผลัดกันทำความสะอาดขน เป็นแมวที่ค่อนข้างเชื่อง เหมาะสำหรับการเลี้ยงเป็นเพื่อนได้เป็นอย่างดี
ลักษณะเด่นของขาวมณีคือสีขนและผิวกายขาวสะอาด ขนสั้น นุ่ม รูปร่างลำตัวยาวขาเรียว ทรงเพียวลม ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป หัวไม่กลมโต แต่เป็นทรงสามเหลี่ยมคล้ายหัวใจ หน้าผากแบนใหญ่ หูขนาดใหญ่และตั้งตรงจมูกสั้น ดวงตาจะรีเล็กน้อย  นัยน์ตาเป็นสีฟ้าหรือเหลืองอำพันสีใดสีหนึ่งเมื่อนำแมวขาว มณีตาสีฟ้า ผสมกับแมวขาวมณีตาสีอำพัน ลูกที่ออกมาจะมีตาสองสี คือ สีฟ้าข้างหนึ่งและสีเหลืองอำพันข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ถูกควบคุมโดยยีนด้อย
ในแมวขาวมณีแทบทุกตัวจะมีจุดด้อย เช่น ถ้ามีตาสองสีมักมีตาข้างหนึ่งที่ไม่ดี อาจมองเห็นไม่ชัดหรือมองไม่เห็นเลย ถ้าแมวตาสีฟ้ามักจะหูพิการ หรือไม่ได้ยินเสียงมากนัก และแมวตาสีเหลืองอำพันมักมีต่อมขนที่ไม่ดี เป็นต้น

เอ่อ...คุณลุงก๊าบ แล้วไม่มีตัวอย่างแมวไทยพันธุ์แท้อื่นๆ อีกหรือ แบบว่า more and more น่ะ อย่างพวกผมเนี่ยเป็นแมวพันธุ์อะไรกันแน่.....ตั้งแต่ต้นจนจบไม่มีลักษณะไหนต้องตามของพวกผมเลย....แง........พวกผมเป็นแมวพันธุ์ทางกันเหรอเนี่ย (แถมยังทางใครทางมันซะด้วย)
คุณลุงหันมามองดูพวกผมแล้วยิ้มๆ ไอ้เหมียวตาหัวโจกที่พาหลานๆ มาเที่ยววันนี้ เป็นแมวสีเหลืองปนขาว หน้ากลมๆ ขนสั้นๆ พุงพลุ้ยๆ อย่างนี้น่ะ เขาเรียกว่า American Short Hair สิ้นคำของคุณลุงเหมียวตากระโดด....ร้องเฮ........คุณลุงบอกว่าผมเป็นอเมริกันเชียวนะ แมวฝรั่งนะเนี่ย ไม่ใช่แมวไทยนะ...คริคริ....งุงิ....อิ๊อิ๊.......ว่าแต่ว่า..ไหง...หลงเข้ามาอยู่ในเมืองไทยได้ละเนี่ย บรรพบุรุษมาไงหาไม่เจออีกอยู่ดี..........เศร้า..T_T"...'''''' ผสมข้ามสายพันธุ์กันจนมั่วซั่วไปหมดแล้ว ลุงบอก
 
เอ่อ...งั้นพวกแบ๊ซก็คงเป็นได้แค่ “อเมริกัน ป๊อกแป๊ก” ละนะก๊าบ....
 
ขอขอบพระคุณข้อมูลแมวๆ จาก คุณลุงกำนันปรีชา พุคคะบุตรแห่งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนแมวไทยโบราณ
ใครไปเที่ยวอัมพวาก็อย่าลืมหาโอกาสแวะไปเยี่ยมชมเพื่อนๆ แมวไทยของพวกผมด้วยนะก๊าบที่
ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ บ้านแมวไทย จังหวัดสมุทรสงคราม
(House for Breeding and Nature of Thai Cats Samutsongkram)

ตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110
เปิดเวลา 08:00 – 17:00 น.
สอบถามเพิ่มเติม โทร 0-3473-3284, 0-3470-2068 หรือ 084-0034194
Facebook.com/baanmawthai
อ้อ...แบ๊ซอยากจะขอเชิญทุกท่านช่วยกันสนับสนุนค่าอาหารเพื่อการอนุรักษ์เพื่อนๆ แมวไทยของพวกผมไม่ให้สูญพันธุ์ไปด้วยนะก๊าบ
 
ท้ายสุด แบ๊ซขอขอบพระคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากวิกิพีเดียมา ณ ที่นี้ด้วยก๊าบ
A call-to-action text Contact us